คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4918/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้มีผลย้อนหลังไปในวันที่คดีถึงที่สุดตามที่จำเลยร้องขอแล้ว ส่วนการที่จำเลยจะได้รับประโยชน์จากการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2530 และพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2531 หรือไม่เพียงใดนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่จะทำการตรวจสอบ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะพิจารณาลดโทษให้จำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ประกอบมาตรา ๘๐ และ ๒๗๘ กระทงหนึ่ง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ประกอบมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๖)ประกอบมาตรา ๘๐ อีกกระทงหนึ่งจำคุกตลอดชีวิต เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก ๕๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ รวม๒ กระทง จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๖๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๘, ๒๘๙(๖) ประกอบ มาตรา ๘๐ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๖) ประกอบ มาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสามจำเลยที่ ๒หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก ๕๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๓ คงจำคุกจำเลยที่ ๑มีกำหนด ๓๓ ปี ๔ เดือน จำคุก จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๓๗ ปี ๖ เดือน
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๒ ว่า คดีนี้ศาลจังหวัดนนทบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม๒๕๒๙ แต่มิได้บังคับคดีโดยออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ ๒ เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๐ทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหายต้องเสียสิทธิไม่ได้รับการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในฐานะนักโทษชั้นเยี่ยม๑ ใน ๒ และตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๓๑ ในฐานะนักโทษชั้นดีมาก ๑ ใน ๓ เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ ขอให้แก้ไขเปลี่ยนกำหนดโทษเสียใหม่ ให้จำเลยที่ ๒ ได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษทั้งสองฉบับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อความปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ ของจำเลยที่ ๒ ว่าศาลยังมิได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นก็ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นกรณีพิเศษโดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ ตามความประสงค์ของจำเลยที่ ๒ ดังที่ปรากฏในคำร้องฉบับดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ ๒ จะได้รับประโยชน์คือได้รับการลดโทษจากพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษพ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ หรือไม่เพียงใดนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษและเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่จะทำการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะพิจารณาลดโทษให้จำเลยที่ ๒ เช่นเดียวกับที่จำเลยที่ ๑ ได้รับการลดโทษดังที่จำเลยที่ ๒ ร้องขอ จำเลยที่ ๒ ชอบที่จะไปร้องให้ถูกทาง
พิพากษายืน.

Share