คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

น. ซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ ได้ชำระราคาแล้วและตกลงให้โจทก์จัดส่งสินค้าที่ซื้อไปยังภูมิลำเนาของ น.โจทก์จึงให้ลูกจ้างของตนขับรถยนต์บรรทุกสินค้าไปส่งระหว่างทางถูกรถยนต์ซึ่งจำเลยขับมาด้วยความประมาทเลินเล่อชนทำให้สินค้าเสียหายทั้งหมด ดังนั้น แม้กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่โจทก์ขายให้ได้ตกเป็นของ น. ในขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้ น.เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้นเสียก่อน จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ขายที่จะต้องรับผิดชอบต่อ น. เมื่อโจทก์ชำระราคาสินค้านั้นให้แก่ทายาทของ น. ไป โจทก์จึงเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ น. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 227 มาฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2534 เวลา 16.40นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขณะปฎิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นนายจ้าง ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80-0283 สงขลา โดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง พุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อได้รับความเสียหายจากนั้นรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับเสียการทรงตัวส่ายไปมาและแล่นเข้าชนรถยนต์บรรทุกสี่ล้อหมายเลขทะเบียนน-9105 สงขลา ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งจอดอยู่ด้านซ้ายสุดของถนนฝั่งตรงกันข้ามได้รับความเสียหายพังยับเยินทั้งคัน นอกจากนี้ยังทำให้สินค้าวัสดุก่อสร้างประเภทไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ รวมหลายรายการของนายเนื่อง ลูกค้าของโจทก์ที่ 2ที่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวไปจากโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างที่โจทก์ที่ 2 บรรทุกสินค้าวัสดุก่อสร้างดังกล่าวเพื่อนำไปส่งให้แก่นายเนื่องยังอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ทายาทของนายเนื่องตามสัญญา โจทก์ที่ 2จึงเข้ารับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเรียกร้องค่าสินค้าในส่วนที่โจทก์ที่ 2 ชำระไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายดังนี้คือ รถยนต์บรรทุกสี่ล้อหมายเลขทะเบียนน-9105 สงขลา ของโจทก์ที่ 1 เสียหายทั้งคันไม่อาจใช้การได้อีกคิดเป็นจำนวนเงิน 180,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายที่ชดใช้ค่าสินค้าคืนให้ลูกค้าเป็นเงิน 31,300 บาท จำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 185,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 180,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 32,278 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 31,300 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า วัสดุก่อสร้างเสียหายมิใช่ความผิดของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ขายไม่ต้องรับผิดต่อนายเนื่อง แม้โจทก์ที่ 2 จะได้ใช้ราคาค่าไม้แปรรูปและวัสดุก่อสร้างให้แก่ทายาทของนายเนื่องไปแล้วก็ไม่อยู่ในฐานะรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และ 3 รับผิดได้โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 120,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิด (วันที่16 ธันวาคม 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,625 บาท แก่โจทก์ที่ 2จำนวน 31,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 978 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้หรือไม่ เห็นว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 นี้ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เนื่องจากทุนทรัพย์พิพาทเพียง 32,278 บาท ปัญหาที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขึ้นมาเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้เป็นยุติแล้วว่านายเนื่อง จันทขวัญได้ซื้อสินค้าจำพวกวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 31,300บาท ได้ชำระราคาแล้วและตกลงให้โจทก์ที่ 2 จัดส่งสินค้าที่ซื้อไปยังภูมิลำเนาของนายเนื่อง โจทก์ที่ 2 จึงให้ลูกจ้างของตนขับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 บรรทุกสินค้าดังกล่าวไปส่งให้ตามที่ตกลง ระหว่างทางถูกรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับมาในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2และที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อชน ทำให้สินค้าที่นายเนื่องซื้อมาได้รับความเสียหายทั้งหมด โจทก์ที่ 2 จึงชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่ทายาทของนายเนื่องไป เมื่อโจทก์ที่ 2 ยังมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งมอบสินค้าจำพวกวัสดุก่อสร้างที่นายเนื่องซื้อจากโจทก์ที่ 2 ไปยังภูมิลำเนาของนายเนื่องตามที่ได้ตกลงไว้ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยที่ 2และที่ 3 อ้างมาในฎีกาว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าที่โจทก์ที่ 2ขายให้นายเนื่องได้ตกเป็นของนายเนื่องในขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้วก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้นายเนื่อง ณ ภูมิลำเนาของนายเนื่อง เมื่อสินค้าที่ส่งไปไม่ถึงภูมิลำเนาของนายเนื่อง เพราะเกิดความเสียหายขึ้นเสียก่อน จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 ผู้ขายที่จะต้องรับผิดชอบต่อนายเนื่อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ชำระราคาสินค้านั้นให้แก่ทายาทของนายเนื่อง ไป โจทก์ที่ 2 จึงเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของนายเนื่อง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 มาฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะนายจ้างให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างได้ โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3”
พิพากษายืน

Share