คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ทางทุจจริตบังคับให้เขาส่งทรัพย์ และในตอนหลังว่า จำเลยรับทรัพย์เหล่านั้นไว้เป็นสินบนหรือสินน้ำใจทางกฎหมายลักษณะอาญา ม.136,137,138 เป็นบทลงโทษดังนี้ ศาลฟังลงโทษตามที่บทพิจารณา ได้ความได้ไม่ถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันมิชอบบังคับให้นายปัน จันสัยกับพวก ซึ่งเป็นลูกบ้านของจำเลยและถูกเกณฑ์ไปช่วยราชการทหารแล้วหลบหนีมา ให้เงินแก่จำเลยโดยบังคับขู่เข็ญว่า ถ้าไม่ยอมจะจับส่งไปช่วยราชการทหารอีก คนเหล่านั้นมีความกลัวจึงให้เงินแก่จำเลยคนละ ๒๕ บาท และจำเลยได้รับเงินนั้นไว้เป็นสินน้ำใจของจำเลยเอง เพื่อเป็นเครื่องอุปการะแก่การที่จำเลยมิให้โทษแก่คนเหล่านั้น และเป็นเงินสินบนที่จำเลยรับไว้เพื่ออาญาประโยชน์ของจำเลยเองเพื่อละเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๖,๑๓๗,๑๓๘
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายความผิดขัดแย้งกันในตัว คือ ในข้อแรกบรรยายว่า จำเลยบังคับเรียกเงิน แต่ในข้อหลังว่า จำเลยรับเงินเป็นสินน้ำใจหรือสินบนตามมาตรา ๑๓๗,๑๓๘ ผู้เรียกไม่ได้บังคับ ดังนี้เมื่อเอาผิดมาตรา ๑๓๖ แล้วจะเอาผิดมาตรา ๑๓๗,๑๓๘ ไม่ได้ และถ้าผิด ม.๑๓๖ แล้วก็ไม่ผิด ม.๑๓๗,๑๓๘ จะเอาผิดทั้งสามมาตราตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้ จึงไม่เป็นฟ้องที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๑๓๖ เป็นบทซึ่งเจ้าพนักงานบังคับให้เขาส่งทรัพย์ให้แก่ตนโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันมิชอบ ส่วนมาตรา ๑๓๗ เป็นมาตราที่เจ้าพนักงานรับสินน้ำใจในการให้คุณหรือให้โทษ หรือละเว้นมิให้คุณหรือให้โทษ มาตรา ๑๓๘ เป็นมาตราที่เจ้าพนักงานรับสินบนเพื่อทำหรือละเว้นการกระทำการตามหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ ทั้งสามมาตรานี้มีข้อความเกี่ยวกับอยู่อย่างใกล้ชิด โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาละเอียดแล้ว ส่วนความผิดของจำเลยเมื่อได้ความตามฟ้อง จะเป็นความผิดมาตราใดนั้นเป็นหน้าที่ของศาลจะชี้ขาด ตามฟ้องจำเลยต้องเข้าใจข้อหาได้ดี พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดข้อเท็จจริงตามรูปคดี

Share