คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4909/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันข้อที่ว่าผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ให้แก่บริษัทในการที่บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างในการปฏิบัติตามหน้าที่การงานทั้งปวงนั้นเห็นได้ชัดว่าความเสียหายที่จำเลยที่2ผู้ค้ำประกันที่เข้าทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นความเสียหายที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคตหาใช้ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วไม่ส่วนสัญญาค้ำประกันข้อที่ว่าการที่บริษัทยังคงให้ลูกจ้างทำงานต่อไปแม้เมื่อลูกจ้างได้ทำผิดหน้าที่และเกิดความรับผิดขึ้นแล้วก็ดีหาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่นั้นหมายความว่าถ้าจำเลยที่1ผู้เป็นลูกจ้างทำความเสียหายในระหว่างที่จำเลยที่2ค้ำประกันอยู่แต่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่1ทำงานต่อไปหรือไม่ได้บังคับเอาค่าเสียหายจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ยังไม่พ้นจากความรับผิดหาได้มีความหมายว่าจำเลยที่2จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายย้อนหลังไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขายและเก็บเงิน มีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินคนละไม่เกิน100,000 บาท ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2536 ถึงเดือนกันยายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินค่าสินค้าของโจทก์จำนวน 303,868.81 บาท ไป โจทก์ทราบเหตุวันที่20 ธันวาคม 2537 เมื่อสอบถามจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1ทำหนังสือยอมรับผิดแต่ไม่ได้ชดใช้เงินคืน โจทก์จึงร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยที่ 1 และทวงถามจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันคนละ 100,000 บาท แต่จำเลยที่ 2และที่ 3 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 303,868.81 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันที่ 20 ธันวาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยช่วงก่อนฟ้องเป็นเงิน15,110.18 บาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คนละ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันที่ 20 ธันวาคม 2537ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ความเสียหายที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเข้าค้ำประกัน จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผูกพันต้องรับผิดตามสัญญาขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ขณะทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์และยังไม่ได้เป็นการแน่นอนว่าโจทก์จะรับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานหรือไม่ เมื่อสัญญาจ้างแรงงานยังไม่เกิดขึ้นสัญญาค้ำประกันดังกล่าวย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันหากฟังว่าสัญญาค้ำประกันนั้นได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 3ก็ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน303,868.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 15,110.18 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 แก่โจทก์และตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ระบุว่าผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ให้แก่บริษัทในการที่บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจมีขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างในการปฏิบัติตามหน้าที่การงานทั้งปวงที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ รวมทั้งจากการกระทำใด ๆ ของลูกจ้างซึ่งนอกเหนือจากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยตลอดเวลาที่ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่กับบริษัท เป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดในความเสียหายอันอาจมีขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งปวงตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงทำงานอยู่กับโจทก์ ฉะนั้นแม้ความเสียหายได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันแต่ก็เป็นความเสียหายที่เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันภาระหลังจากจำเลยที่ 1 ทำงานกับโจทก์เกือบ 2 ปีแล้ว จึงย่อมทราบว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์ก่อนหน้านี้อาจทำความเสียหายให้แก่โจทก์ก็ได้ และตามสัญญาค้ำประกันข้อ 3 ก็ระบุว่า การที่บริษัทยังคงให้ลูกจ้างทำงานกับบริษัทอยู่ต่อไป แม้เมื่อลูกจ้างได้ทำผิดหน้าที่และเกิดความรับผิดชอบขึ้นแล้วก็ดี หรือการที่บริษัทยังไม่บังคับเรียกร้องเอาความรับผิดอันได้เกิดขึ้นแล้วก็ดี หาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันนี้ไม่มีความหมายว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะค้ำประกัน หากโจทก์ยังไม่เรียกร้องเอาค่าเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันในภายหลัง จำเลยที่ 2 จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่และสำหรับจำเลยที่ 3 นั้นได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ก่อนจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ก็เพื่อให้โจทก์ยินยอมรับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง และต่อมาโจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 3พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2ที่ว่า ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ให้แก่บริษัท ในการที่บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างในการปฏิบัติตามหน้าที่การงานทั้งปวงนั้น เห็นได้ชัดว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นความเสียหายที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคต หาใช่ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วไม่ ปรากฏว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535และจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในการปฏิบัติงานแก่โจทก์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2536 ถึงเดือนกันยายน 2537แต่จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2537 หลังจากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ส่วนสัญญาค้ำประกัน ข้อ 3ที่ว่า การที่บริษัทยังคงให้ลูกจ้างทำงานต่อไป แม้เมื่อลูกจ้างได้ทำผิดหน้าที่และเกิดความรับผิดขึ้นแล้วก็ดีหาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่นั้นหมายความว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำความเสียหายในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันอยู่ แต่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่ 1ทำงานต่อไปหรือไม่ได้บังคับเอาค่าเสียหาย จำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ ยังไม่พ้นจากความรับผิด หาได้มีความหมายว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายย้อนหลังไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันไม่
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่าหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ เมื่อจำเลยที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535เพื่อให้จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับโจทก์ และต่อมาโจทก์ก็ได้ตกลงจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ประกันหนี้ในอนาคตสัญญาค้ำประกันจึงผูกพันจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างโจทก์นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2536 ถึงเดือนกันยายน2537 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวรวมทั้งดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งระบุให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเพียงไม่เกินวงเงิน 100,000 บาทที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่20 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share