คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าในพิกัดประเภทที่ 84.15 เป็นสินค้าประเภทที่ใช้เพื่อความสะดวกสบายหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอัตราอากรจึงได้กำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 80 ส่วนสินค้าในพิกัดประเภทที่ 84.17 นั้น เป็นสินค้าที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการผลิตหรือเป็นสินค้าประเภทที่นำมาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตผลงานอย่างอื่น จึงได้กำหนดพิกัดอัตราอากรไว้ต่ำลงมาเพียงร้อยละ 30 คำว่า”เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ” ในพิกัดประเภทที่ 84.15ข. จึงหมายถึงเครื่องปรับอากาศหรือส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศที่ใช้เพื่อความสะดวกสบาย ส่วนคำว่า”ที่ใช้กับเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ” ในพิกัดประเภทที่84.17ก. นั้น หมายถึงเครื่องที่จะระบายความร้อนให้กับเครื่องจักรขณะที่เครื่องจักรทำงาน ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรสินค้าคอนเดนเซอร์ที่โจทก์นำเข้ามา เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ อันเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดให้ความสะดวกสบายและไม่อาจใช้ผลิตหรือเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าอื่นอันจะถือเป็นเครื่องจักรได้ จึงเป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัดที่ 84.15ข. จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529แล้ว ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีพิพาท เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนในปีภาษี พ.ศ. 2527 และมิใช่ภาษีอากรในประเภทที่มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 30 ใช้บังคับจำเลยที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้นำสินค้าคอนเดนเซอร์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร และได้สำแดงสินค้าดังกล่าวในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. อัตราอากรร้อยละ 30 จำเลยที่ 1 รับเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล ตามที่ได้สำแดงไว้และรับสินค้าไปจากครอบครองของโจทก์ที่ 1 แล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานกองศุลกาธิการตรวจสอบเอกสารพบว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. อัตราอากรร้อยละ 80 เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 จึงได้ทำการประเมินภาษีอากรใหม่ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1ต้องชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มเติมและเงินเพิ่มตามกฎหมาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 529,783.22 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า สินค้ารายพิพาทเป็นสินค้าประเภทคอนเดนเซอร์ซึ่งมิใช่ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องปรับอากาศ หากแต่เป็นพาร์ท หรือโปรดักซ์ที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศรถยนต์ชนิดที่ไม่มีเครื่องครบชุดในตัว และเป็นสินค้าที่ต้องจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. ตามที่สำแดงไว้ จำเลยทั้งสองยื่นคำขออภัยโทษทางภาษีตามแบบ อ .1 แล้ว ไม่ต้องชำระเงินค่าภาษีตามฟ้องแต่อย่างใด
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 550,841.64 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า สินค้าคอนเดนเซอร์ ที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามานั้นเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 84.15 ข. หรือ 84.17 ก. และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มหรือไม่
ปัญหาแรกนั้น ข้อเท็จจริงยุติว่าสินค้าคอนเดนเซอร์ตามฟ้องเป็นอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศที่ใช้กับรถยนต์ ซึ่งตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2531 มาตรา 4 ได้กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรไว้ดังนี้
“ประเภทที่ 84.15 ตู้เย็นและเครื่องทำความเย็นทั้งชนิดที่ใช้ไฟฟ้าและชนิดอื่น ก. ตู้เย็น (1) ฯลฯ ข. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศอัตราอากรร้อยละ 80
ประเภทที่ 84.17 เครื่องจักร เครื่องจักรโรงงานและเครื่องที่คล้ายกันสำหรับใช้ในห้องทดลองที่ทำให้วัตถุต่าง ๆ เปลี่ยนสภาพโดยกรรมวิธีที่เปลี่ยนอุณหภูมิ ซึ่งจะใช้ไฟฟ้าให้ความร้อนด้วยหรือไม่ก็ตาม เช่น การทำให้ร้อย การทำให้สุก การย่าง การกลั่น การกรองให้บริสุทธิ์ การฆ่าเชื้อด้วยความร้อน การฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเ ตอร์ไรซ์ การอบด้วยไอน้ำ ทำให้แห้ง ทำให้ระเหย ทำให้เป็นไอทำให้ข้นหรือทำให้เย็น (แต่ต้องมิใช่เครื่องจักรหรือเครื่องจักรโรงงานชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือน) รวมทั้งเครื่องที่ทำให้น้ำร้อน ชนิดไหลผ่านท่อหรือชนิดแช่ ในถังใหญ่ที่มิได้ใช้ไฟฟ้า ก.ที่ใช้กับเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ… อัตราอากรร้อยละ 30
จะเห็นได้ว่าสินค้าในพิกัดสองประเภทนี้กำหนดลักษณะและความมุ่งหมายในการใช้ไว้ต่างกัน กล่าวคือ ในพิกัดประเภทที่ 84.15 นั้นเป็นสินค้าประเภทที่ใช้เพื่อความสะดวกสบายหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย อัตราอากรจึงได้กำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 80 ส่วนสินค้าในพิกัด 4.17 นั้น เป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรโรงงาน ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ.2521 มิได้ให้ความหมายของคำว่า เครื่องจักรไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใดคำว่าเครื่องจักรจึงต้องถือตามความหมายธรรมดา ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่าเป็นกลไกอุปกรณ์ต่าง ๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องเพื่อใช้ในการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งสินค้าที่อยู่ในพิกัดประเภทนี้จึงต้องเป็นสินค้าที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการผลิตหรือเป็นสินค้าประเภทที่นำมาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตผลงานอย่างอื่น จึงได้กำหนดพิกัดอัตราอากรไว้ต่ำลงมาเพียงร้อยละ 30 มิใช่สินค้าที่ใช้เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายอย่างที่กำหนดไว้ในพิกัด 84.15 คำว่า “เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ” ในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. นั้น จึงหมายถึงเครื่องปรับอากาศหรือส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศที่ใช้เพื่อความสะดวกสบาย ส่วนคำว่า “ที่ใช้กับเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ” ในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก.นั้น หมายถึงเครื่องที่จะระบายความร้อนให้กับเครื่องจักรขณะที่เครื่องจักรทำงานซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร ดังนั้น สินค้าคอนเดนเซอร์ที่โจทก์นำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ อันเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดให้ความสะดวกสบาย มิใช่เครื่องปรับอากาศที่ใช้ระบายความร้อนของเครื่องจักร และเครื่องคอนเดนเซอร์ที่โจทก์นำเข้ามานั้นในตัวเองก็ไม่อาจใช้ผลิตหรือเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าตัวอื่นอันจะถือว่าเป็นเครื่องจักรได้ จึงเป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัดที่ 84.15 ข. จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียอากรในพิกัดอัตราดังกล่าวคือร้อยละ 80
ปัญหาประการที่สองนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 แล้ว พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2512 มาตรา 30บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรผู้ใด ซึ่งยังไม่ได้เสียภาษีอากร หรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเดือนก รกฏาคมพ.ศ. 2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียตามมาตรานี้ภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันยื่นคำขอ ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนหรือในปีภาษีพ.ศ. 2527 หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงก่อนหรือในวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2527…” จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเสียภาษีตามเอกสารหมาย ล.2 เมื่อวันที่ 30 ก รกฏาคม 2529 และในเอกสารดังกล่าวมีความระบุไว้ให้เห็นว่ามีการชำระเงินแล้ว การยื่นคำขอเสียภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีพิพาทหนี้เป็นภาษีอากรในปี พ.ศ. 2522 และมิใช่ภาษีอากรในประเภทที่มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 30 ใช้บังคับ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ที่ 2 จึงจะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มกับเงินเพิ่มตามที่ฟ้องอีกไม่ได้เพราะเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนในปีภาษี พ.ศ. 2527 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็พ้นความรับผิดในหนี้ส่วนนี้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล.

Share