แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ ส.พยานโจทก์เบิกความต่อศาลแตกต่างจากที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนนั้น ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรจะฟังได้เพียงใดหรือไม่ มิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้วจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไป และไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่เหตุผลเป็นเรื่องๆ ไป
แม้ ส. มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในการกระทำผิดดังที่ศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้ว แต่ตามสำนวนการสอบสวนคดีนี้ ปรากฏว่า ส.ให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย และศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนดังกล่าวเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้อยู่แล้ว ดังนั้น ที่ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของ ส. เป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล จึงไม่ขัดต่อกระบวนวิธีพิจารณาความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายสุบินจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ ๔๑๔/๒๕๒๕ ร่วมกันมีกัญชาสดจำนวน ๖๑ กระสอบ ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗, ๒๖, ๗๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๒ ริบรถยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสุบินเบิกความว่าเมื่อตนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดี นายสุบินให้การแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่าตนมิใช่เจ้าของ หากเป็นเพียงลูกจ้างขนส่งกัญชาดังกล่าว โดยมิได้ให้การซัดทอดถึงจำเลย และหลังจากที่ถูกจับกุมได้ประมาณ ๔ เดือน พนักงานสอบสวนมาสอบปากคำเกี่ยวกับจำเลย ขณะนั้นนายสุบินมีความโกรธเคืองจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่เคยมาเยี่ยมเยียนในระหว่างที่ตนถูกจับ จึงให้การปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นผู้ใชให้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปบรรทุกกัญชาของกลาง อันเป็นการแตกต่างจากที่นายสุบินเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนคดีนี้ ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้นศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรจะฟังได้เพียงใดหรือไม่ มิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้ว จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไป และไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่เหตุผลเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๑๙/๒๕๑๖ แม้นายสุบินมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในการกระทำผิดดังที่ศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้วก็ตามแต่ตามสำนวนการสอบสวนคดีนี้ปรากฏว่านายสุบินให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย และศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนดังกล่าวมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๕ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุบินพยานโจทก์เป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล จึงไม่เป็นการขัดต่อกระบวนพิจารณาความ
สำหรับคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ปรากฏว่าขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ประกาศใช้บังคับและมาตรา ๔ แห่งบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๒๕ และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้น ๆจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีก่อนที่พระราชบัญญัติที่กล่าวมานี้ใช้บังคับจำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษมาก่อน คดีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่เพิ่มโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์