คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4894/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาเมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา จึงไม่รับ วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาโดยจำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องฎีกามาด้วย ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2535 ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาโดยไม่แนบคำฟ้องฎีกาที่จะให้รับรองมาด้วยจึงให้ยกคำร้อง วันที่ 28 กรกฎาคม 2535 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาพร้อมกับยื่นคำฟ้องฎีกาฉบับใหม่ ดังนี้ การที่จำเลยเคยยื่นคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับแล้ว คำฟ้องฎีกาของจำเลยจึงตกไป แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำฟ้องฎีกาฉบับใหม่พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกา และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับคำฟ้องฎีกาของจำเลยก็ตาม ก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่ยื่นพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขอให้โจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากและรับจะไถ่คืนให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤษภาคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247ประกอบด้วยมาตรา 248 วรรคสี่ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงห้ามฎีกาจึงไม่รับ วันที่ 2 กรกฎาคม 2535ซึ่งอยู่ในกำหนดระยะเวลาฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกา โดยจำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องฎีกามาด้วย ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2535 ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาโดยไม่แนบคำฟ้องฎีกาที่จะให้รับรองมาด้วย จึงให้ยกคำร้องวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกา พร้อมกับยื่นคำฟ้องฎีกาฉบับใหม่ดังนี้ การที่จำเลยเคยยื่นคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับแล้วคำฟ้องฎีกาของจำเลยจึงตกไป แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำฟ้องฎีกาฉบับใหม่พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาและผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องฎีกาของจำเลยก็ตาม ก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่ยื่นพ้นกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share