คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายรับโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเลี้ยงเป็นบุตรเมื่อผู้ตายตายแล้ว จำเลยสามีผู้ตายไล่โจทก์ออกจากบ้าน โจทก์กับบิดาจึงขอแบ่งมรดกของผู้ตายโดยคิดว่าตนเป็นบุตรบุญธรรมมีสิทธิในมรดกรวมกับจำเลยและบุตรผู้ตาย แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกัน เพื่อระงับข้อพิพาท สัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ผู้เยาว์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งที่นาที่สวนและชำระเงิน ๕๐๐ บาท ให้โจทก์ตามสัญญาซึ่งจำเลยได้ทำไว้กับโจทก์
จำเลยสู้ว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญานี้กับโจทก์ ลายเซ็นในสัญญาไม่ใช่ลายเซ็นจำเลย โจทก์เป็นผู้เยาว์ไม่มีสิทธิทำสัญญา สัญญาจึงไม่สมบูรณ์
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ทำสัญญานี้กับโจทก์ สัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้โจทก์จะเป็นผู้เยาว์ สัญญาก็ไม่เสียไป เพราะจำเลยและบิดาโจทก์เซ็นชื่อไว้ พิพากษาให้โจทก์ชนะ
จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาไม่สมบูรณ์ เพราะนายพันธ์โจทก์ไม่ได้เซ็นชื่อและผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญานี้ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมแต่เป็นสัญญาให้เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนและไม่มีการส่งมอบทรัพย์ สัญญายังไม่สมบูรณ์จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่าสัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่ทำสัญญาแบ่งกันนี้เป็นมรดกของนางบุญทัน นางบุญทันไม่มีบุตร จึงเอานายพันธ์ (โจทก์) ซึ่งเป็นบุตรของพี่ชายมาเลี้ยงเป็นบุตร ต่อมาสามีนางบุญทันตาย นางบุญทันจึงได้จำเลยเป็นสามีและมีบุตรกับจำเลยชื่อเด็กชายสมนึก ต่อมานางบุญทันตายจำเลยได้ภรรยาใหม่ แล้วขับไล่นายพันธ์ออกจากบ้าน นายพันธ์กับบิดาจึงมาขอแบ่งทรัพย์ โดยคิดว่าตนเป็นบุตรบุญธรรมของนางบุญทัน และมีสิทธิจะได้รับมรดกของนางบุญทันร่วมกับจำเลยและเด็กชายสมนึก นายพันธ์กับจำเลยจึงทำสัญญานี้ขึ้นเพื่อระงับข้อที่จะพิพาทเรื่องมรดก ศาลฎีกาจึงเห็นว่าสัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share