คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้นมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 11 (7) แห่ง พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 เพียงมาตราเดียว อีกทั้งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองว่าเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นสั่งฎีกาไม่ได้ ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาต่อไปว่า พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ฎีกาเป็นสั่งให้ฎีกานั้น จะต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่เพียงพอเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิด โดยอาศัยเทียบเคียงกับ ป.วิ.อ. มาตรา 147 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 147 แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ซึ่งห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายในชั้นสอบสวน เป็นคนละเรื่องคนละขั้นตอนกับคดีละเมิดอำนาจศาลอันเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง โดยที่มิได้มีผู้ใดเป็นโจทก์ฟ้องคดี ดังนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาปล่อยผู้นั้น พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) จึงมอบให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาว่าจะสมควรฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 147 มาเทียบเคียงกับอำนาจฎีกาของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) กรณีการสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมีคำสั่งให้ฎีกา ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้กล่าวหากล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.937/2549 ของศาลชั้นต้นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 77, 239, 280 และ 296 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุกผู้ถูกกล่าวหา 3 ปี ผู้ถูกกล่าวหาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่บริเวณหน้าอาคารศาลชั้นต้นกรณีถูกลงโทษจำคุกดังกล่าว โดยพาดพิงถึงการตัดสินคดี ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของสถาบันศาลยุติธรรม เหตุเกิดที่ศาลชั้นต้น แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยถ้อยคำว่า “…แล้วก็หวังว่าเราจะได้ความยุติธรรมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป แต่คราวนี้แสดงถึงว่าอิทธิพลของคุณทักษิณ…ยังครอบคลุมอยู่ทั้งประเทศไทย” และ “…การตัดสินวันนี้…ก็แสดงถึงอิทธิพลเขายังล้นฟ้ามาก…” อันแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินคดีของศาล โดยถูกครอบงำจากอิทธิพลของพันตำรวจโททักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจอิสระในการตัดสินคดี อันเป็นการดูหมิ่นศาล ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ให้จำคุก 1 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
พนักงานอัยการฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามคำแก้ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาก่อนว่า การยื่นฎีกาของพนักงานอัยการในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามถ้อยคำสำนวนได้ความว่า เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ผู้ถูกกล่าวหาฟังว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในวันที่ 29 กันยายน 2553 แล้ว ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นได้มีหนังสือที่ ศย. 300.002/ (ปน.) 695 ถึงอัยการสูงสุด แจ้งว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลได้โดยลำพัง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่จะยื่นฎีกาตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) จึงขอส่งเอกสารเกี่ยวกับคดีมาเพื่อพิจารณายื่นฎีกาต่อไป ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2553 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาฎีกาได้ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ครั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 มีหนังสือที่ อส 0022.1/676 แจ้งต่อผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นว่า คดีไม่มีพยานหลักฐานที่จะโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ พนักงานอัยการจึงไม่ฎีกาตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ศาลชั้นต้นได้มีหนังสือที่ ศย 300.002/ (ลข) 15717 ถึงอัยการสูงสุดขอให้ทบทวนความเห็นสั่งไม่ฎีกาโดยแจ้งว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มิได้เป็นการมีคำสั่งด้วยวิธีการดังที่ศาลอุทธรณ์อ้างเป็นเหตุผลในการตัดสินว่า “ที่ศาลชั้นต้นตัดต่อถ้อยคำสัมภาษณ์ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในคนละช่วงคนละตอนนำมาเชื่อมโยงให้ดูประหนึ่งว่าเป็นการให้ถ้อยคำสัมภาษณ์หรือตอนเดียวกัน และในประโยคเดียวกัน แล้วใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าว” แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีจำเป็นต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานการมีคำสั่งหรือคำพิพากษาฐานละเมิดอำนาจศาลต่อไป ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเป็นครั้งที่ 2 ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2553 และในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 อัยการสูงสุดได้ออกคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 716/2553 มอบหมายให้นายสุรัตน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 สำนักงานคดีอาญา มีอำนาจดำเนินคดีอาญาเฉพาะเรื่องให้แก่เลขานุการศาลชั้นต้น ผู้กล่าวหาไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2553 พนักงานอัยการโดยนายสุรัตน์ผู้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีเฉพาะเรื่องจึงยื่นฎีกาคดีนี้ ดังนี้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการว่า “ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้” และมาตรา 12 บัญญัติให้อัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล อัยการพิเศษประจำเขตมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลภายในเขต ส่วนพนักงานอัยการอื่นมีอำนาจดำเนินคดีได้เฉพาะศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการผู้นั้นรับราชการประจำ เว้นแต่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการคนใดซึ่งรับราชการประจำในท้องที่หนึ่งให้ไปดำเนินคดีใดเฉพาะเรื่อง มาตรา 12 (1) ก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้พนักงานอัยการคนนั้น มีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะเรื่องนั้นได้ ดังนั้น แม้คดีนี้นายชัยณรงค์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ ปฏิบัติราชการแทนอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 จะมีหนังสือที่ อส. 0022.1/676 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 แจ้งต่อผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้นว่า คดีไม่มีหลักฐานที่จะโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ พนักงานอัยการสั่งไม่ฎีกาตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) แล้ว ก็ตาม แต่เมื่อภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาซึ่งศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้เป็นครั้งที่ 2 อัยการสูงสุดใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 12 ออกคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 716/2553 มอบหมายให้นายสุรัตน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 1 สำนักงานคดีอาญามีอำนาจดำเนินคดีอาญาเฉพาะเรื่องคดีนี้ให้แก่เลขานุการศาลชั้นต้น ผู้กล่าวหาไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และนายสุรัตน์ผู้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้มีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะเรื่องก็ได้ยื่นฎีกาคดีนี้ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้ ดังนั้น การยื่นฎีกาของพนักงานอัยการในคดีนี้จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ผู้ถูกกล่าวหาแก้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อพนักงานอัยการสั่งไม่ฎีกาตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) แล้ว คดีก็ควรที่จะต้องเป็นยุติไม่สามารถยื่นฎีกาต่อไปได้เพราะเป็นการพิจารณาสั่งคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หากพนักงานอัยการจะมีความเห็นและคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ฎีกาเป็นสั่งให้ฎีกานั้น จะต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่ที่เพียงพอเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดอันเทียบเคียงได้กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 นั้น เห็นว่า อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพังและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา 11 (7) แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 เพียงมาตราเดียว อีกทั้งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความก็ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นทำนองว่าเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นสั่งให้ฎีกาไม่ได้ ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาต่อไปว่า พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ฎีกาเป็นสั่งให้ฎีกานั้น จะต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่ที่เพียงพอเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวได้กระทำผิด โดยอาศัยเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 นั้น เห็นว่า มาตรา 147 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นเรื่องผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ซึ่งห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายในชั้นสอบสวน เป็นคนละเรื่องคนละขั้นตอนกับคดีละเมิดอำนาจศาลอันเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง โดยที่มิได้มีผู้ใดเป็นโจทก์ฟ้องคดี ดังนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) จึงมอบให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาว่าจะสมควรฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 มาเทียบเคียงกับอำนาจฎีกาของพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) กรณีการสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมีคำสั่งให้ฎีกาในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ได้ สำหรับข้อโต้แย้งในคำแก้ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ว่า พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ได้ถูกยกเลิกแล้ว โดยพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 3 โดยให้ใช้พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 แทน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2553 และมาตรา 14 ไม่ได้ให้อำนาจและหน้าที่แก่พนักงานอัยการในการดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ยื่นฎีกาแทนผู้กล่าวหาได้ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2553 โดยมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 30 บัญญัติให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการและการอันใดที่ใช้บังคับกับพนักงานอัยการที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงให้ใช้บังคับต่อไป เมื่อปรากฏว่าคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 716/2553 ที่มอบหมายให้นายสุรัตน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 สำนักงานคดีอาญา มีอำนาจดำเนินคดีอาญาเฉพาะเรื่องให้แก่เลขานุการศาลชั้นต้น ผู้กล่าวหาไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด มีข้อความระบุในคำสั่งชัดแจ้งว่า สั่ง ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2553 และนายสุรัตน์ ผู้รับมอบจากอัยการสูงสุดให้มีอำนาจดำเนินคดีนี้เฉพาะเรื่องได้ยื่นฎีกาคดีนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ล้วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับทั้งสิ้น ดังนั้น คำสั่งของอัยการสูงสุดที่ 716/2553 ที่มอบหมายให้นายสุรัตน์ มีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะเรื่อง ก็ดี การยื่นฎีกาคดีนี้ของนายสุรัตน์ ผู้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีนี้เฉพาะเรื่องให้แก่เลขานุการศาลชั้นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ก็ดี จึงยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น แม้ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 จะไม่ได้บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่พนักงานอัยการในการดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลแล้วก็ตาม ก็หามีผลทำให้การยื่นฎีกาคดีนี้ของพนักงานอัยการ ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) สิ้นผลใช้บังคับไปไม่ คำแก้ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาในประเด็นข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประเด็นตามฎีกาของพนักงานอัยการประการสุดท้ายมีว่า สมควรลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา 1 เดือน โดยไม่รอการลงโทษตามคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงในลักษณะหมิ่นประมาทใส่ความว่า ศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาดคดีภายใต้อิทธิพลการครอบงำของผู้อื่น จะเป็นเรื่องร้ายแรง มีผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของศาลชั้นต้น อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างร้ายแรง สมควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหาอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้อื่นประพฤติเยี่ยงผู้ถูกกล่าวหาอีกก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาว่า ธุรกิจปูนซีเมนต์และปิโตรเคมีของผู้ถูกกล่าวหามีมูลค่าประมาณ 100,000 ถึง 200,000 ล้านบาท แสดงว่าเป็นการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องมีพนักงานลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่เป็นจำนวนมาก หากผู้ถูกกล่าวหาต้องรับโทษถึงจำคุก อาจส่งผลกระทบต่อกิจการของผู้ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง และหากมีผลถึงขนาดทำให้ธุรกิจไม่อาจดำเนินการต่อไปได้จนต้องถูกปิดกิจการ นอกจากจะทำให้ลูกจ้างพนักงานในบริษัทของผู้ถูกกล่าวหาต้องพลอยเดือดร้อนทุกข์ยากไปด้วยแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังบริษัทอื่น ๆ ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องได้ และย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของบ้านเมืองโดยรวมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การลงโทษปรับจำเลยในอัตราขั้นสูงอีกสถานหนึ่ง และรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้จะเป็นผลดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาและสังคมส่วนรวมมากกว่า ฎีกาของพนักงานอัยการในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คำแก้ฎีกา ของผู้ถูกกล่าวหาในประเด็นนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ให้ลงโทษตามมาตรา 33 (ข) ประกอบวรรคท้าย จำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share