คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยต่างแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2394 ในคราวเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ คงมีที่ดินของจำเลยเพียงแปลงเดียวที่อยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งที่แบ่งแยกในคราวเดียวกัน รวมถึงที่ดินของจำเลยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 หาใช่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้แต่เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 2394 แปลงเดิมส่วนที่คงเหลือจากการแบ่งแยกแบ่งโอนกันแล้วเท่านั้นไม่
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นหรือไม่ ถือได้ว่ามีประเด็นในเรื่องความกว้างยาวของทางจำเป็นด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยเพราะถือว่าไม่มีประเด็นจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางเดินกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๕๖๐ , ๔๕๕๕๙ , ๔๕๕๕๘ , ๔๕๕๕๗ และ ๔๕๕๕๖ เป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอม ให้จำเลยไปจดทะเบียนในโฉนดที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ไปขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป หากจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานัดสืบพยานจำเลย เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๙ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฝ่ายจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป เป็นอันหมดพยานจำเลย คดีเสร็จการพิจารณา นัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๙ ว่า ในวันเวลาที่ศาลนัดทนายจำเลยและพยานจำเลยไปศาลแล้ว แต่มิได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ทราบ เนื่องจากพยานจำเลยมอบเอกสารสำคัญเป็นพยาน ทนายจำเลยจึงไปดำเนินการเพื่อยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมที่แผนกรับคำร้อง โดยให้พยานจำเลยดำเนินการถ่ายเอกสาร จำเลยมิได้จงใจขาดนัด จำเลยประสงค์จะสืบพยานสำคัญอีก ๔ ปาก เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมและสืบพยานจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ทางพิพาทกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินด้านเหนือในที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ ๔๕๕๖๐ ไม่เป็นทางภาระจำยอม แต่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสองโฉนดเลขที่ ๔๕๕๕๗และ ๔๕๕๕๙ ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตามลำดับ พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๕๕๗ และ ๔๕๕๕๙ หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากทางพิพาท หากจำเลยไม่รื้อก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอที่ว่า หากจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนได้เอง กับคำขอที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในโฉนดที่ดินจำเลย หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๙๔ จึงฟ้องให้ที่ดินเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะที่ดินโฉนดแปลงเดิม คือที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๙๔ เท่านั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า เดิมนางฟักเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๙๔ ต่อมาปี ๒๕๓๓ นางฟักแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยและออกโฉนดที่ดินใหม่รวม ๕ แปลง จำเลยได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๕๖๐ นางหนูได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๕๕๙ โจทก์ที่ ๑ ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๕๕๕๗ ต่อมาที่ดินนางหนูตกเป็นของโจทก์ที่ ๒ เห็นว่า เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยต่างแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๙๔ ในคราวเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ คงมีที่ดินของจำเลยเพียงแปลงเดียวที่อยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งที่แบ่งแยกในคราวเดียวกัน รวมถึงที่ดินของจำเลยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๕๐ หาใช่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้แต่เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๙๔ แปลงเดิมส่วนที่คงเหลือจากการแบ่งแยกแบ่งโอนกันแล้วเท่านั้นไม่
ประเด็นที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยว่า ทางจำเป็นกว้าง ๒.๕๐ เมตร จำเลยยังไม่เห็นด้วยเพราะที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นพิพาทว่าทางจำเป็นกว้างเท่าใด และจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเพราะจำเลยมั่นใจว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น แต่เมื่อศาลฟังว่าเป็นทางจำเป็นก็ต้องกำหนดให้เพียงประโยชน์ในการผ่านเข้าออก และให้จำเลยเสียหายเพียงเล็กน้อย ขอให้ศาลฎีกากำหนดให้ทางจำเป็นกว้างไม่เกิน ๑ เมตร นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นหรือไม่ ถือได้ว่ามีประเด็นในเรื่องความกว้างยาวของทางจำเป็นด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ไม่รับวินิจฉัยเพราะถือว่าไม่มีประเด็น จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share