แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดราคารถยนต์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้เป็นเงิน 320,000 บาท ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 7,000 บาท 9 เดือน เป็นเงิน 63,000 บาท โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดประโยชน์เหลือเดือนละ 4,000 บาท 9 เดือนเป็นเงิน 36,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองชดใช้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ราคารถยนต์และค่าขาดประโยชน์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดและศาลอุทธรณ์แก้ไขในส่วนนี้ จำเลยทั้งสองยังไม่อาจเห็นพ้องด้วย เพราะเป็นราคาที่กำหนดไว้สูงกว่าความเป็นจริงในปัจจุบันมากโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ระบุว่าราคารถยนต์และค่าขาดประโยชน์ในปัจจุบันควรเป็นจำนวนเท่าใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดให้ศาลรู้ได้เอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ จึงเป็นการไม่ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เพิ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อภายหลังวันทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การไว้ ศาลก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทรัพย์สินที่ทำการเช่าซื้อกันนั้นผู้ให้เช่าซื้ออาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกให้เช่าซื้อล่วงหน้าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 418,435 บาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 90,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 508,435 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากับโจทก์ตามฟ้องจริงโดยชำระค่าเช่าซื้อทุกงวด จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์ไม่ขาดประโยชน์จึงคิดค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสองไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 320,000 บาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 63,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 7,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแต่ทั้งนี้ไม่เกิน 18 เดือนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์จำนวน 36,000 บาท แก่โจทก์และค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคา แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 10 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดราคารถยนต์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้เป็นเงิน 320,000 บาทค่าขาดประโยชน์เดือนละ 7,000 บาท 9 เดือน เป็นเงิน 63,000 บาทโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดประโยชน์เหลือเดือนละ 4,000บาท 9 เดือน เป็นเงิน 36,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองชดใช้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ราคารถยนต์และค่าขาดประโยชน์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดและศาลอุทธรณ์แก้ไขในส่วนนี้ จำเลยทั้งสองยังไม่อาจเห็นพ้องด้วย เพราะเป็นราคาที่กำหนดไว้สูงกว่าความเป็นจริงในปัจจุบันมาก โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ระบุว่าราคารถยนต์และค่าขาดประโยชน์ในปัจจุบันควรเป็นจำนวนเท่าใดข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดให้ศาลรู้ได้เอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงเป็นการไม่ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้าง โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า โจทก์เพิ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อภายหลังวันทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การไว้ศาลก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่า ทรัพย์สินที่ทำการเช่าซื้อกันนั้นผู้ให้เช่าซื้ออาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกให้เช่าซื้อล่วงหน้าได้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองมีผลบังคับ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง”
พิพากษายืน