แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีสามารถแยกยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้แต่เฉพาะในส่วนของเงินได้ตามมาตรา 40(1)เท่านั้น ส่วนเงินได้ของโจทก์ตามมาตรา 40(4)(ก) นั้นถือเป็นเงินได้ของสามีโจทก์ และสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี แม้โจทก์จะแยกยื่นรายการเพื่อเสียภาษี การแยกยื่นของโจทก์ต้องไม่ทำให้ภาษีที่ต้องเสียเปลี่ยนแปลง ดังนั้น โจทก์ต้องนำเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(4)(ก) ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้กับเงินได้ของสามีโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.12 เลขที่ 2007 170 1 100048ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภ.ส.7 เลขที่ 7170/ฝ.1/24/40/268 ลงวันที่22 สิงหาคม 2540 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีจำนวน 1,816 บาทที่โจทก์ชำระตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.12พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับจากวันที่จำเลยที่ 1 รับชำระไว้จนกว่าจำเลยที่ 1 จะคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1คืนเงินจำนวน 5,642.59 บาท ที่รับชำระไว้เกินกว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่โจทก์ควรจะชำระในปีภาษี 2538พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่โจทก์ขอคืน จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่สั่งไว้ตามข้อ 3(ก) ว่า”ให้ผู้อุทธรณ์นำเงินภาษี เงินเพิ่ม ไปชำระ ณ สำนักงานสรรพากรเขตห้วยขวางเป็นเงิน 1,816 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย” นั้นเสีย นอกนั้นให้ยกคำขอของโจทก์เสียทั้งสิ้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้โจทก์เป็นหญิงมีสามีและอยู่ร่วมกันกับสามีตลอดปีภาษี 2538โดยโจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1)จำนวน 213,090 บาท ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายจำนวน3,300 บาท และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) จำนวน142,039.89 บาท ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย 21,305.49 บาทส่วนสามีโจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) จำนวน522,351 บาท ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายจำนวน 31,671 บาทและมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) จำนวน 71,347.06 บาทถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย จำนวน 10,702.06 บาท โจทก์ใช้สิทธิตามมาตรา 57 ตรี วรรคสอง โดยนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และตามมาตรา 40(4)(ก) ดังกล่าว แยกยื่นรายการจากสามีตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปี 2538 เอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 7 ถึง 9 โดยแสดงผลการคำนวณว่า โจทก์มีค่าภาษีที่ต้องชำระ18,962.90 บาท โจทก์ถูกหักค่าภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายจำนวน24,605.40 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษี 5,642.59 บาทส่วนสามีโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 27 ถึง 29 โดยนำเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(1)และเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) ของสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวไปยื่นในการคำนวณภาษีเงินได้ของสามีโจทก์มิได้นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) ของโจทก์มารวมคำนวณในการยื่นรายการและเสียภาษี โดยสามีโจทก์แสดงผลการคำนวณว่า สามีโจทก์มีค่าภาษีที่ต้องชำระจำนวน 42,819 บาท ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 42,373.06 บาท สามีโจทก์จึงมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มจำนวน445.94 บาท ซึ่งสามีโจทก์ได้ชำระเงินสดให้ตามจำนวนดังกล่าวแล้วหากนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) ของโจทก์ไปรวมคำนวณกับเงินได้ของสามีแล้ว สามีโจทก์จะต้องชำระค่าภาษีเพิ่มจำนวน 5,369.04 บาท สามีโจทก์ชำระค่าภาษีเพิ่มเป็นเงินสดไว้แล้วจำนวน 445 บาท ดังนี้ สามีโจทก์จึงต้องชำระค่าภาษีเพิ่มอีก4,924.04 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องนำเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(4)(ก)ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้กับเงินได้ของสามีโจทก์ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ในข้อนี้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา 57 ตรี ไม่ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ต้องนำเงินได้ของภริยามารวมกับเงินได้ของสามีในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่มีความหมายให้สามีมีหน้าที่ต้องไปยื่นแบบเพื่อเสียภาษีแทนภริยาเท่านั้นสามีและภริยาต่างมีสิทธิที่จะแยกยื่นแบบเพื่อเสียภาษีส่วนของตนได้นั้น ในข้อนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี บัญญัติไว้ว่า “ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้นถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามีและให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี แต่ถ้าภาษีค้างชำระและภริยาได้รับแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว ให้ภริยาร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย
ถ้าสามีหรือภริยามีความประสงค์จะยื่นรายการแยกกันก็ให้ทำได้โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบภายในเวลาซึ่งกำหนดให้ยื่นรายการ แต่การแยกกันยื่นรายการนั้น ไม่ทำให้ภาษีที่ต้องเสียเปลี่ยนแปลงอย่างใด”
มาตรา 57 เบญจ บัญญัติว่า “ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่ ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรี ก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์สามารถแยกยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้เฉพาะแต่ในส่วนของเงินได้ตามมาตรา 40(1) เท่านั้น ส่วนเงินได้ของโจทก์ตามมาตรา 40(4)(ก) นั้น ถือเป็นเงินได้ของสามีโจทก์ และสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีแม้โจทก์จะแยกยื่นรายการเพื่อเสียภาษี การแยกยื่นของโจทก์ต้องไม่ทำให้ภาษีที่ต้องเสียเปลี่ยนแปลง ดังนั้น โจทก์ต้องนำเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก)ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้กับเงินได้ของสามีโจทก์ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
พิพากษายืน