คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 12 มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) จากข้อความเดิมที่ว่า “ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน…สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น…” มาเป็นมาตรา 179 (4) มีข้อความใหม่ว่า “ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน… สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น… ” และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีดังกล่าว” คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับ ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 179 (3) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดี คือค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2545 โจทก์นำผู้คัดค้านยึดทรัพย์สินพิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 1498 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างราคาประเมินรวม 96,487,413 บาท ซึ่งโจทก์แถลงยืนยันว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับนางกัลยาณีและวันที่ 28 มกราคม 2548 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทให้แก่นางกัลยาณี ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายจำนวน 3,377,059.46 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การยึดทรัพย์สินพิพาทเป็นอำนาจของผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 โจทก์เป็นเพียงผู้ช่วยผู้คัดค้านในการรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประโยชน์เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และหากโจทก์ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมดังกล่าวโจทก์ก็ประสงค์ขอให้ยึดเฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินพิพาทราคาไม่เกิน 54,947,215.20 บาท ค่าธรรมเนียมจึงต้องคำนวณจากราคาดังกล่าว มิใช่คำนวณจากราคาประเมิน 96,487,413.15 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์เป็นผู้แถลงยืนยันว่าทรัพย์สินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับนางกัลยาณีและโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินพิพาท ทั้งมีหน้าที่ช่วยผู้คัดค้านในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยและรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 155 เมื่อคดีนี้ผู้คัดค้านไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยได้ จึงไม่มีการแบ่งทรัพย์สินตามมาตรา 130 และศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทให้แก่นางกัลยาณีแล้ว โจทก์จึงต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามมาตรา 179 และผู้คัดค้านกำหนดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามครึ่ง โดยคำนวณจากราคาประเมินทรัพย์สินพิพาทที่ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้าน ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ภายหลังจากศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 1498 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างราคาประเมินรวม 96,487,413 บาท คืนแก่นางกัลยาณีแล้ว เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินพิพาทเป็นเงินจำนวน 3,377,059.46 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านเฉพาะในส่วนค่าธรรมเนียมเป็นให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเพียงว่า ผู้คัดค้านมีอำนาจคิดค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินพิพาทที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 12 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) จากข้อความเดิมที่ว่า “ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน…สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น…” มาเป็นมาตรา 179 (4) มีข้อความใหม่ว่า “ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน…สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น…” และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดี บังคับแก่คดีดังกล่าว” เมื่อปรากฏว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 และใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 2 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับ ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 179 (3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดี คือ ค่าธรรมเนียมดังกล่าว ให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านโดยให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินพิพาทมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาประเมินทรัพย์สินพิพาทที่ผู้คัดค้านกำหนด ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share