คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4863/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี และเพิ่มหลักประกันเป็น 320,000 บาท มีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีสมุดเงินฝากประจำเป็นประกัน ถือว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งหลังจำนวน 320,000 บาท แม้สัญญาค้ำประกันจะมีข้อความว่าผู้ค้ำประกันตกลงยอมค้ำประกันผู้กู้ที่ได้กู้เงินจำนวน320,000 บาท และดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียม ค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องจ่ายเงินไปในการบังคับชำระหนี้จำนวนที่ค้างอยู่นั้นไม่ว่ายอดหนี้ตามบัญชีจะต่ำกว่าหรือสูงขึ้นจากที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้กู้ทั้งสิ้นก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ในวงเงินที่กู้ และการที่จำเลยที่ 3 นำสมุดเงินฝากประจำมอบไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ในการทำสัญญาค้ำประกันแต่ละคราว ก็ด้วยเจตนาที่จะให้เป็นหลักประกันในการทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้นแม้ตามสัญญาจำนำสิทธิตามตราสารสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำจะมีข้อความว่าผู้จำนำตกลงยินยอมให้ธนาคารใช้สิทธิในเงินตามสมุดเงินฝากที่จำนำหักกลบลบหนี้ในหนี้สินที่ลูกหนี้ซึ่งผู้จำนำจะต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำหรือผู้ค้ำประกันแทนลูกหนี้ได้ทันที และเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วหากลูกหนี้ยังเป็นหนี้ธนาคารอยู่อีก ผู้จำนำตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่เหลือค้าง และตกลงรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวข้างต้นให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนตามสัญญาที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้ธนาคารอยู่นั้นก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวทำในวันเดียวกันกับที่ทำสัญญาค้ำประกันแสดงว่าเป็นการนำหลักประกันมามอบแก่โจทก์เพิ่มเติมจากการทำสัญญาค้ำประกัน หาใช่เป็นการค้ำประกันขึ้นใหม่โดยไม่จำกัดจำนวนไม่ หลังจากวันครบกำหนดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วไม่มีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก คงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยของโจทก์และการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้เพียงอย่างเดียว ไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 1 ได้ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีมีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้นำสมุดเงินฝากประจำมาจำนำไว้กับโจทก์ โดยตกลงว่ายอมให้โจทก์หักเงินฝากมาชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มวงเงินหลายครั้ง และมีการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหลายครั้งจำเลยที่ 3 ได้ค้ำประกันเพิ่มอีก จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดบัญชีเรื่อยมา โจทก์หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 551,874.70 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันฟ้องได้เป็นดอกเบี้ย150,593.76 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 702,468.70 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันผู้ใดไว้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 เคยทำสัญญาจำนำสิทธิตามตราสารสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำของธนาคารโจทก์ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ในวงเงินเพียง 200,000 บาทและโจทก์ได้นำเงินฝากตามหลักฐานในสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำดังกล่าวหักกลบลบหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งค้างชำระแก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้หนี้ใด ๆ แก่โจทก์อีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน702,468.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน551,874.70 บาท นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม2524 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2525 และเมื่อได้ยอดเท่าใด จำเลยที่ 2ต้องชดใช้ดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวต่อไปอีกในอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวน 188,967.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2529เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 702,468.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีในต้นเงิน 551,874.70 บาท นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำบันทึกเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีและเพิ่มหลักประกันเป็น 220,000 บาท และ320,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 มีจำเลยที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 โดยมีสมุดเงินฝากประจำเป็นประกันตามเอกสารหมาย จ.22 และ จ.24 ตามลำดับนั้นปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ว่าเป็นแบบพิมพ์มีข้อความเหมือนกัน แตกต่างกันเฉพาะวันที่ที่ทำสัญญาและจำนวนเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3ค้ำประกันเท่านั้น โดยตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.16 ระบุจำนวนเงินไว้ 100,000 บาท ส่วนสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.17ระบุจำนวนเงินไว้ 320,000 บาท จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งหลังจำนวน 320,000 บาท เท่านั้น เพราะถ้าหากถือว่าตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันโดยไม่จำกัดวงเงินแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในครั้งหลัง จำเลยที่ 3 ก็ไม่จำต้องทำสัญญาค้ำประกันเพิ่มเติมซึ่งมีข้อความเหมือนกันอีก 1 ฉบับ แต่อย่างใดเพราะสัญญาค้ำประกันฉบับแรกย่อมเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดวงเงินได้อยู่แล้ว ดังนี้ แม้สัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ.17 ข้อ 1 จะมีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันตกลงยอมค้ำประกันผู้กู้ที่ได้กู้เงินจำนวน 320,000 บาท และดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียมค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องจ่ายเงินไปในการบังคับชำระหนี้จำนวนที่ค้างอยู่นั้น ไม่ว่ายอดหนี้ตามบัญชีจะต่ำกว่าหรือสูงขึ้นจากที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้กู้ทั้งสิ้นก็ตาม ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ในวงเงินที่กู้ โดยจะอ้างสิทธิพิเศษนอกเหนือไปจากผู้กู้ อาทิเช่นยกข้อต่อสู้ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ หรือเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องร่วมรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับตัวลูกหนี้โดยไม่จำกัดจำนวน และการที่จำเลยที่ 3 นำสมุดเงินฝากประจำมอบไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ในการทำสัญญาค้ำประกันแต่ละคราวก็ด้วยเจตนาที่จะให้เป็นหลักประกันในการทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้นแม้ตามสัญญาจำนำสิทธิตามตราสารสมุดคู่ฝากเงินประจำเอกสารหมายจ.22 และ จ.24 ข้อ 2 จะมีข้อความว่า ผู้จำนำตกลงยินยอมให้ธนาคารใช้สิทธิในเงินตามสมุดเงินฝากที่จำนำหักกลบลบหนี้ในหนี้สินที่ลูกหนี้ซึ่งผู้จำนำจะต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำหรือผู้ค้ำประกันแทนลูกหนี้ได้ทันที และเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วหากลูกหนี้ยังเป็นหนี้ธนาคารอยู่อีก ผู้จำนำตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันเงินที่เหลือค้าง และตกลงรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวข้างต้นให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนตามสัญญาที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้ธนาคารอยู่นั้นก็ตามแต่สัญญาดังกล่าวทั้งสองฉบับทำในวันเดียวกันกับที่ทำสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.16และ จ.17 แต่ละฉบับตามลำดับ แสดงว่าเป็นการนำหลักประกันมามอบแก่โจทก์เพิ่มเติมจากการทำสัญญาค้ำประกัน หาใช่เป็นการค้ำประกันขึ้นใหม่โดยไม่จำกัดจำนวนไม่
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปคือ จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.30 ว่า นับแต่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.17 จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชี และนำเงินเข้าหักทอนบัญชีตลอดมา บางครั้งมียอดหนี้สูงกว่าวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ 3 บางครั้งก็ต่ำกว่า ครั้งสุดท้ายที่มียอดต่ำกว่าคือวันที่ 20 สิงหาคม 2527 หลังจากนั้นคือวันที่ 22 สิงหาคม 2527 มีการถอนเงินออกจากบัญชีจนเป็นหนี้ถึง 466,257.29 บาท สูงกว่าวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ 3 และหลังจากนั้นก็มียอดหนี้สูงกว่าวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ 3 มาโดยตลอดจำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเต็มตามวงเงินพร้อมดอกเบี้ยทบต้นที่จำเลยที่ 1ต้องรับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม2527 นั้นเป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามฟ้อง แต่หลังจากวันครบกำหนดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว ไม่มีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก คงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยของโจทก์และการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้เพียงอย่างเดียวไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3 อีกต่อไป คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน2529 ที่โจทก์นำเงินฝากของจำเลยที่ 3 ที่มอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักประกันดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 230,335.18 บาทมาหักทอนบัญชี โดยให้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่คำนวณได้ หากมีเหลือก็ให้หักชำระเงินต้น แล้วให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ยังคงเหลือในอัตราดังกล่าวนับแต่วันนั้นต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 3 จะชำระหนี้เสร็จสิ้น แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำเลยที่ 3ฎีกา โดยขอรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 3 พอใจและมิได้อุทธรณ์โต้แย้งมาแต่ต้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 3รับผิดในส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2527 ดังนั้นแม้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะมีมากกว่าแต่ก็เห็นสมควรให้เป็นไปตามนั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share