คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติโรงงานฯ มาตรา 12 และ 13 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยห้ามมิให้ตั้งโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาตและหากได้รับใบอนุญาตแล้วถ้าประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการโรงงานส่วนหนึ่งส่วนใดต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มประกอบกิจการ ดังนั้นวันที่ออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจึงมิใช่วันเริ่มประกอบกิจการดังกล่าว
แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงานฯ ก็ตาม แต่ก็เป็นอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หาใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องสอบถามไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่าโรงงานที่ตั้งในเขตท้องที่ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้วหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงงานที่จะต้องแสดงหลักฐานต่อจำเลยที่ 1 ว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว
เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การตั้งโรงงานตลอดจนการประกอบกิจการโรงงานทำนาเกลือสินเธาว์ของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติโรงงานฯ มาตรา 12 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจเข้าไปตรวจสภาพโรงงานสถานที่ สภาพเครื่องจักร ตลอดจนตรวจยึดสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบกิจการของโจทก์ได้ หาเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและบุกรุกไม่
เหตุแห่งการที่จำเลยทั้งสามเข้าไปตรวจสภาพโรงงานและยึดเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโจทก์ เนื่องจากรับแจ้งว่ามีราษฎรประมาณ 100 คน มาชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยในการทำนาเกลือของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามสั่งให้อุดท่อ พีวีซี และให้รื้อถอนเครื่องจักรในที่เกิดเหตุก็ด้วยเจตนาเพียงระงับเหตุร้ายและความวุ่นวายของผู้ชุมนุมประท้วงมิให้ลุกลามไป ทั้งเป็นการรื้อถอนตามอำนาจหน้าที่ซึ่งย่อมทำให้เกิดความชำรุดเสียหายบ้างอันเป็นผลธรรมดาของการรื้อถอนที่ต้องเกิดขึ้น สภาพความชำรุดเสียหายจึงมิใช่เกิดขึ้นเพราะกระทำโดยเจตนาให้เสียทรัพย์การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีกจำนวนหนึ่งไม่ทราบชื่อเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และร่วมกันนำดินลูกรังไปอัดบ่อน้ำเกลือ 4 บ่อ จนไม่สามารถนำน้ำเกลือจากบ่อใช้ประโยชน์ต่อไปได้ และร่วมกันนำเครื่องจักร เครื่องมือในการประกอบกิจการทำนาเกลือสินเธาว์ไป 11 รายการ ราคาประมาณ 500,000 บาท ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถประกอบกิจการทำนาเกลือสินเธาว์ได้ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองต้องไร้ประโยชน์ในการใช้ทรัพย์ได้ตามปกติ อีกทั้งจำเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ที่กระทำเช่นนั้นได้ แต่ได้ร่วมกันสมคบและสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นจึงถือว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เหตุเกิดที่ตำบลดงเหนือ อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365, 362, 358, 157, 83, 84, 90 และ 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีโจทก์ทั้งสองมีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาอ้างว่า เมื่อเจ้าพนักงานออกใบอนุญาตประกอบกิจการตั้งโรงงานตามคำขอของโจทก์ทั้งสองผู้ประสงค์จะประกอบกิจการในวันที่ 3 ธันวาคม 2542 ก็ย่อมหมายถึงเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเริ่มต้นประกอบกิจการโรงงานได้โดยชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12บัญญัติว่า “ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต… ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต… การยื่นคำขอรับใบอนุญาตและขั้นตอนการพิจารณาและระยะเวลาในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง…” และมาตรา 13 บัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 ถ้าประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการโรงงานในส่วนหนึ่งส่วนใดต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มประกอบกิจการ…” จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว กำหนดไว้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตและต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเสียก่อน และเมื่อได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว หากประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ทราบอีกครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสองจะถือเอาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการลงวันที่ 3 ธันวาคม 2542 ของนายสมคะเนย์ขันชะรุ หัวหน้าฝ่ายโรงงานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เป็นวันเริ่มประกอบกิจการโรงงานโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ได้ เพราะจากการนำสืบของโจทก์ทั้งสองได้ความว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในวันที่ 13 ธันวาคม 2542 และโจทก์ที่ 2 ไปรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในวันเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้วันที่ 3 ธันวาคม 2542 จึงไม่ใช่วันเริ่มต้นที่โจทก์ทั้งสองสามารถตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานตามที่ขออนุญาตไว้ได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535ที่จะต้องตรวจสอบว่า โรงงานซึ่งตั้งในเขตท้องที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้วหรือไม่ นั้น เห็นว่า แม้จะมีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 214/2536 แต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ก็ตาม แต่ก็เป็นอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แต่ก็ใช่ว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องเป็นผู้สอบถามไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่าโรงงานที่ตั้งในเขตท้องที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนนั้น ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้วหรือไม่ ดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงงานที่จะต้องแสดงหลักฐานต่อจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดว่า ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้วดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ณ ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายในโรงงานของตน” เป็นเหตุผลสนับสนุนความข้อนี้อยู่ ดังนั้น ในวันที่ 8 ธันวาคม2542 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานการตั้งโรงงานตลอดจนการประกอบกิจการโรงงานทำนาเกลือสินเธาว์ของโจทก์ทั้งสองจึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจเข้าไปตรวจสภาพโรงงานสถานที่ สภาพเครื่องจักร ตลอดจนตรวจยึดสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องเมื่อการประกอบกิจการโรงงานของโจทก์ทั้งสองกระทำโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2535 ดังกล่าวแล้ว กรณีจึงถือว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 1 และยึดเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการนาเกลือสินเธาว์ของโจทก์ที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและความผิดฐานบุกรุกหาได้ไม่ ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งสองฎีกาในทำนองว่า จำเลยทั้งสามไม่จำเป็นต้องทำลายท่อ พี วี ซี ที่วางอยู่บนพื้นดิน และนำเศษดิน เศษหิน ใส่ลงไปในท่อพี วี ซี 4 ท่อ จนเสียหายใช้การไม่ได้ซึ่งเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น เห็นว่า เหตุแห่งการที่จำเลยทั้งสามเข้าไปตรวจสภาพโรงงานและยึดเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานครั้งนี้เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีราษฎรประมาณ100 คน มาชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยในการทำนาเกลือสินเธาว์ของโจทก์ทั้งสองตามบันทึกเหตุร้ายสำคัญในเขตตำบลดงเหนือ ซึ่งมีนายดาบตำรวจพิศาล ศิริบูรณ์ พยานโจทก์ทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ท้ายบันทึกดังกล่าวด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงมีเจตนาเพียงระงับเหตุร้ายและความวุ่นวายของผู้ชุมนุมประท้วงมิให้ลุกลามไป แม้การที่จะระงับการประกอบกิจการนาเกลือสินเธาว์นั้น จำเลยทั้งสามจะได้สั่งให้อุดท่อ พี วี ซีตลอดจนสั่งให้รื้อถอนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในที่เกิดเหตุ ก็ด้วยประสงค์จะยึดเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งติดตั้งที่พื้นดินโดยต้องรื้อถอนไปตามอำนาจหน้าที่ การรื้อสิ่งของที่ติดอยู่กับพื้นดินย่อมทำให้เกิดความชำรุดเสียหายบ้าง ซึ่งเป็นผลธรรมดาของการรื้อถอนที่ต้องเกิดขึ้น สภาพความชำรุดเสียหายมิใช่เกิดขึ้นเพราะกระทำโดยเจตนาให้เสียทรัพย์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่มีมูลความผิดและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share