แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างตามสัญญารับจ้างก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยระบุว่ามีการโอนสิทธิการรับเงินตามจำนวนที่ผู้โอนสิทธิจะได้รับตามสัญญาเป็นเงิน 28,000,000 บาท ซึ่งเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งหมายความว่าสัญญาดังกล่าวอาจมีการพิจารณาเงินเพิ่มหรือลดราคาค่างานจากราคาที่ผู้รับจ้างทำสัญญาตกลงกับผู้ว่าจ้างได้ เงินที่ได้เพิ่มหรือลดลงจากราคาค่างานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างของสัญญาจ้างที่กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ แม้โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. จะไม่ได้กำหนดสิทธิเรียกร้องในเงินส่วนนี้ไว้อย่างชัดเจนในบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิฯ ก็ต้องถือว่าสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างและผู้ประกอบอาชีพงานอื่นกับทางราชการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งถือเป็นเงินเพิ่มที่โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ประสงค์จะโอนให้แก่กันด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ 1582/2542 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2542 และคำสั่งอายัดที่ (ส.ภ.1) 612/2542 (ที่ถูก 613/2542) วันที่ 5 เมษายน 2542 และคำสั่งอายัดที่ (ส.ภ.1) 898/2542 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2542 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,952,781 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของจำเลยที่ 1 ที่ (ส.ภ.1) 613/2542 วันที่ 5 เมษายน 2542 เฉพาะที่ระบุว่า “ตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2539 ลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ก่อสร้างวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัยอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) เป็นจำนวนเงิน 2,293,098.52 บาท” คำสั่งอายัดที่ (ส.ภ.1) 898/2542 วันที่ 1 มิถุนายน 2542 เฉพาะที่ระบุว่า “1. เงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2539 ลงวันที่ 30 กันยายน 2539 จำนวนเงิน 2,293,098.52 บาท ทั้งจำนวน 2. เงินค่าปรับที่ห้างจะได้รับจากการขอคืนเงินค่าปรับในการรับจ้างก่อสร้างวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย ตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2539 ลงวันที่ 30 กันยายน 2539 จำนวนเงิน 672,000 บาท ทั้งจำนวน” คำสั่งอายัดที่ 1582/2542 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2542 ให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนเงินตามจำนวนที่ระบุในคำสั่งทั้งหมดข้างต้นเฉพาะที่ถูกเพิกถอนแก่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 2,952,781 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษา (วันที่ 27 ธันวาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง ค่าธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ (ที่ถูกให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคาร ณ วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย กับจำเลยที่ 2 สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างตามสัญญานั้นให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงฯ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว ตามสำเนาหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้อง ต่อมาจำเลยที่ 2 จ่ายเงินค่างวดค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง โดยนายสมศักดิ์ ผู้จัดการโครงการและเป็นกรรมการของโจทก์ มีหนังสือขอเบิกเงินช่วยเหลือดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณขอเบิกเงินช่วยเหลือนั้น สำนักงบประมาณตรวจสอบแล้วอนุมัติให้จ่ายเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) เป็นเงินจำนวน 2,280,781 บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าปรับคืนอีกจำนวน 672,000 บาท แต่ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง จำเลยที่ 1 ตรวจพบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ค้างชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งอายัดเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ส่งเงินทั้งสองจำนวนนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ชั้นฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดใจฎีกาเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิของโจทก์ในการได้รับเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) และดอกเบี้ยในเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้างและค่าปรับเท่านั้น โดยมิได้ฎีกาประเด็นเรื่องสิทธิของโจทก์ในเงินค่าปรับด้วย ประเด็นนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงิน ระบุว่า “ผู้โอนสิทธิตกลงโอนสิทธิและผู้รับโอนสิทธิตกลงรับโอนสิทธิการรับเงินตามจำนวนที่ผู้โอนสิทธิจะได้รับตามสัญญา” ซึ่งได้แก่ สัญญาที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ก่อสร้างวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย เป็นเงิน 28,000,000 บาท ซึ่งเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งหมายความว่าสัญญาดังกล่าวอาจมีการพิจารณาเงินเพิ่มหรือลดราคาค่างานจากราคาที่ผู้รับจ้างทำสัญญาตกลงกับผู้ว่าจ้างได้ ซึ่งต้องถือว่าเงินที่ได้เพิ่มหรือลดลงจากราคาค่างานดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญาจ้างที่กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ โดยราคาเหมารวมนั้นย่อมหมายถึง ราคาของแรงงานและวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้รับจ้างต้องจัดหามาเพื่อใช้ในงานจ้างตามสัญญาจ้าง เมื่อถือว่าเงินที่ได้เพิ่มหรือลดจากการปรับราคาวัสดุหรือที่เรียกว่าค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญา แม้โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง จะไม่ได้กำหนดสิทธิเรียกร้องในเงินส่วนนี้ไว้อย่างชัดเจนในบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงิน ก็ต้องถือว่าสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างและผู้ประกอบอาชีพงานอื่นกับทางราชการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งถือเป็นเงินที่ได้เพิ่มจากการปรับราคาค่างานตามสัญญา เป็นเงินที่โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ประสงค์จะโอนให้แก่กันด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ได้ และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ผูกพันสัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกัน เนื่องจากได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าสิทธิของโจทก์ในการรับเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) เป็นการใช้สิทธิตามบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงิน มิใช่สัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองปากน้ำเอ็นจิเนียริ่ง
พิพากษายืน และให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น จำนวน 445 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ