คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 609 แห่ง ป.พ.พ. กับบทบัญญัติมาตรา 50 และมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยเฉพาะความรับผิดทางสัญญาไม่รวมถึงกรณีละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิด จำเลยจะยกกฎหมายดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้าก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 570,263.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 548,836.75 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 570,263.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 548,836.75 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยเรื่องค่าเสียหายว่า โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้า ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริงนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติว่า “การรับขนของหรือคนโดยสารในหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม… ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ” ส่วนพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 มาตรา 50 บัญญัติว่า “ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบในการที่ผู้โดยสารต้องบาดเจ็บเสียหายก็ดี ฤาว่าครุภาระ ห่อวัตถุ ฤาสินค้า ซึ่งรับบรรทุกนั้นแตกหักสูญหายก็ดี… ท่านให้ใช้บังคับตามพระราชกำหนดกฎหมายส่วนแพ่งว่าด้วยการบรรทุกส่ง เว้นไว้แต่จะต้องด้วยบทมาตราดังจะกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ จึงให้ใช้บทมาตรานั้น ๆ บังคับ” มาตรา 51 บัญญัติว่า “กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุ ฤาสินค้าที่บรรทุกส่งไปฤามอบฝากไว้กับรถไฟนั้นแตกหักบุบสลาย…เว้นไว้แต่พนักงานรถไฟจะได้รับของนั้นลงบัญชีประกันและได้ออกใบรับให้ไปเป็นสำคัญ” แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้ความคุ้มครองแก่จำเลยเฉพาะความรับผิดทางสัญญาไม่รวมถึงกรณีละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิด จำเลยจะยกกฎหมายดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้าก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมาจำนวน 13,720 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share