แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคาร ศ. เป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 วันที่ 27 พฤษภาคม 2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นในธนาคาร ศ. เกินร้อยละ 50 ธนาคาร ศ. จึงเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนด้วยผลของมาตรา 4 (6) ต่อมาธนาคาร ศ. ควบรวมกับธนาคาร น. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและธนาคาร น. รับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้าง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดการถือหุ้นในธนาคาร น. ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 50 ทำให้ธนาคาร น. พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงกลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และธนาคาร น. ผู้เป็นนายจ้างหักค่าจ้างโจทก์ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม การที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนและกลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกครั้งเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนกระทำหรือมีพฤติการณ์ที่ต้องรับผิดชอบ โจทก์ยังคงทำงานเป็นลูกจ้างของธนาคารผู้เป็นนายจ้างตลอดมา ต้องถือว่าการเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ช่วงแรกและช่วงหลังต่อเนื่องเป็นการประกันตนในคราวเดียวกันโดยให้นับระยะเวลาการประกันตนช่วงแรกและช่วงหลังต่อเนื่องกันตามมาตรา 42
โจทก์ป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2536 ในขณะที่โจทก์เป็นผู้ประกันตนช่วงแรก อันเป็นการป่วยด้วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายระหว่างการเป็นผู้ประกันตน โจทก์จึงมีสิทธิขอรับบริการทางการแพทย์โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 ที่ รง 0624/12181 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1779/2548 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 และให้โจทก์มีสิทธิรับประโยชน์ค่าบำบัดทดแทนไตโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง (คำสั่ง ที่ รง 0624/12181 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5) และคำวินิจฉัยที่ 1779/2548 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายสิทธิประโยชน์ค่าบำบัดทดแทนไตโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีเหตุเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า สาเหตุที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐมีคำสั่งให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าไปถือหุ้นในธนาคารศรีนคร จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เกินร้อยละ 50 ผลคือฐานะของธนาคารดังกล่าวเปลี่ยนจากบริษัทเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนด้วยผลของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 (6) ที่มีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อภายหลังโดยผลของคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดจำนวนการถือครองหุ้นลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด อันเป็นผลให้ฐานะธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกลับคืนสู่บริษัทเอกชนอีกครั้ง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่หักค่าจ้างของโจทก์นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การที่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนหรือกลับเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อีกครั้งเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยที่โจทก์ไม่ได้มีส่วนกระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใดที่จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ยังคงทำงานเป็นพนักงานของธนาคารนายจ้าง สภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างมีอยู่ตลอดมา การที่จำเลยซึ่งเป็นองค์กรของรัฐด้วยกันจะผลักภาระให้โจทก์มีหน้าที่สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อปกป้องรักษาสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม ย่อมเป็นการสร้างภาระที่เกินควรแก่โจทก์เพราะการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต้องออกเงินสมทบสองเท่าของอัตราเงินสมทบและรัฐบาลออกให้หนึ่งเท่า ขณะที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนออกเงินสมทบฝ่ายละเท่ากัน การผลักภาระดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อการสิ้นสภาพหรือกลับคืนสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กรณีนี้จึงต้องถือว่า การเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ทั้งช่วงแรกและช่วงหลังต่อเนื่องเป็นการประกันตนในคราวเดียวกัน โดยให้นับระยะเวลาการประกันตนช่วงแรกและช่วงหลังต่อเนื่องกัน ตามมาตรา 42 เมื่อโจทก์ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายระหว่างการเป็นผู้ประกันตน โจทก์จึงมีสิทธิขอรับบริการทางการแพทย์โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามมาตรา 63 ประกอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน กรณีบำบัดทดแทนไตฉบับลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ปฏิเสธการให้บริการทางการแพทย์ในการบำบัดไตโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน