คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การก่อสร้างสะพานลอยพิพาทริเริ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมโดยตรงเพราะในขณะนั้นมิได้เป็นจุดที่มีประชาชนเดินข้ามถนนเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด ลำพังการคาดการณ์ว่าเมื่อสร้างสะพานลอยพิพาทแล้วย่อมต้องมีประชาชนใช้ประโยชน์เป็นจำนวนยังไม่พอฟังว่าการสร้างสะพานลอยพิพาทเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์โดยแท้จริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยพิพาทเพื่อประโยชนในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอันเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันควร อันเป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสะพานลอยข้ามถนนดังกล่าวออกไปด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อสะพานลอยออกไป
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทราชสีมาชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย นางกิมเฮียงทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และต่อมานางกิมเฮียงถึงแก่ความตาย นางสาวนฤมลทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 300,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพียง 1 ใน 4 ส่วน กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมใช้ค่าทนายความชั้นศาลชั้นต้น 3,000 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เรียกเก็บเกินมาให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์บนที่ดินโฉนดเลขที่ 29350 ตำบลในเมืองนครราชสีมา (หนองจะบก) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อยู่ริมถนนมิตรภาพหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ตอนสระบุรี – นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมเป็นเจ้าของอาคารหลายหลังรวมทั้งอาคารห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ที่เรียกว่าราชสีมาชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ริมถนนมิตรภาพฝั่งตรงข้ามอาคารพาณิชย์ของโจทก์ เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2543 จำเลยร่วมขออนุญาตจากจำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนมิตรภาพระหว่างอาคารพาณิชย์ของโจทก์กับอาคารห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม จำเลยที่ 1 อนุญาต จำเลยร่วมก่อสร้างสะพานลอยพิพาทซึ่งมีเสาจำนวน 5 ต้น ตั้งบนทางเท้าตรงกับหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ห่างประมาณ 3 เมตร เสาต้นกลางกว้าง 1.20 เมตร และหนา 50 เซนติเมตร อีกสี่ต้นที่ล้อมรอบมีขนาด 50 x 50 เซนติเมตร มีฐานสูงประมาณ 25 เซนติเมตร รวมกับตัวสะพานลอยสูงประมาณ 6 เมตร ตัวสะพานลอยกว้าง 3 เมตร ตามแบบก่อสร้าง และภาพถ่ายส่วนฝั่งตรงข้ามมีการเชื่อมทางเดินจากสะพานลอยดังกล่าวเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมว่า การสร้างสะพานลอยพิพาทเป็นการใช้สิทธิอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันควรเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยร่วมก่อสร้างสะพานลอยพิพาทตามแบบมาตรฐานของจำเลยที่ 1 แล้ว เพียงแต่ตกแต่งให้สวยงาม มิได้มีขนาดใหญ่จนปิดบังแสงแดดและลมผ่านเข้าสู่อาคารของโจทก์ ทั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมและเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนนั้น ในเรื่องสภาพของสะพานลอยพิพาท ข้อเท็จจริงจากนายบัณฑิตพยานจำเลยที่ 1 เบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่า สะพานลอยพิพาทมีขนาดใหญ่กว่าสะพานลอยในสถานที่อื่นเช่นตามภาพถ่าย แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมีแบบก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามอันเป็นมาตรฐานอยู่หลายแบบแต่มีขนาดไม่เท่ากัน เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย ก็เห็นได้ชัดว่ามีการก่อสร้างเสาอีกสี่ต้นล้อมรอบเสากลาง ที่น่าเชื่อว่าไม่ใช่เสาที่รับน้ำหนักหัวสะพาน แต่เพื่อรับน้ำหนักซุ้มหลังคา ระหว่างเสาทั้งสี่ต้นยังทำแผงปิดเป็นซุ้มเพื่อให้เกิดความสวยงาม อันเป็นการตกแต่งสะพานลอยพิพาทตามที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมนำสืบเองว่า สาเหตุเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้สะพานลอยพิพาทสวยงามเสมือนเป็นประตูสู่ภาคอีสานจึงรับฟังได้ว่าสะพานลอยพิพาทถูกก่อสร้างตกแต่งเพิ่มขึ้นจากแบบก่อสร้างที่เป็นปกติหรือเป็นมาตรฐาน สิ่งตกแต่งที่เพิ่มขึ้นก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเหตุให้ปิดบังแสงแดดและทางลมผ่านเข้าสู่อาคารของโจทก์มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย จนปัจจุบันเมื่อมองจากถนนมิตรภาพ ซุ้มเสา สะพานลอยพิพาทและซุ้มหลังคาสะพานลอยแทบจะปิดบังอาคารของโจทก์ไปหมดสิ้นตามภาพถ่าย ส่วนเรื่องจุดหรือตำแหน่งของสะพานลอยพิพาทเหมาะสมหรือไม่นั้น ที่โจทก์นำสืบว่า ริมถนนมิตรภาพฝั่งเดียวกับอาคารของโจทก์ห่างไปเพียง 100 เมตร มีที่ดินว่างซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมใช้เป็นที่จอดรถของลูกค้าและมีทางม้าลายให้คนเดินข้ามถนนมิตรภาพตามแผนที่ปรากฏว่าทางม้าลายตรงกับทางรถเข้าออกห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ อันเป็นจุดที่สร้างสะพานลอยคนข้ามได้โดยไม่ปิดบังหน้าอาคารใด ๆ นั้น จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมมิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่น จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่ามีจุดหรือตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมในการสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนมิตรภาพในบริเวณนั้นไม่ใช่มีลำพังแค่จุดที่สร้างสะพานลอยพิพาทเท่านั้น อาคารพาณิชย์ของโจทก์มีอยู่ก่อนจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมก่อสร้างราชสีมาชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ และไม่ปรากฏว่ามีป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและทางม้าลายอยู่ในบริเวณนั้นแต่เดิมอันจะเป็นเหตุให้มีคนเดินข้ามถนนมากเป็นพิเศษในจุดนั้น การก่อสร้างสะพานลอยพิพาทจึงริเริ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมโดยตรง เพราะในขณะนั้นมิได้เป็นจุดที่มีประชาชนเดินข้ามถนนเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด ลำพังการคาดการณ์ว่าเมื่อสร้างสะพานลอยพิพาทแล้ว ย่อมต้องมีประชาชนใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ยังไม่พอฟังว่าการสร้างสะพานลอยพิพาทเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์โดยแท้จริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยพิพาทเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอันเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันควร อันเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share