คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4854/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาเช่าห้องพักระหว่างบ.ผู้เช่ากับจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าข้อ 3 ระบุว่า “ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือนทุก ๆ เดือน ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้ หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ” ข้อ 9 ระบุว่า”ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที” และข้อ 10 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดีหรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดี ผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าด้วยแล้ว บ.และผู้เสียหายซึ่งอยู่ในห้องพิพาทโดยอาศัยสิทธิ บ. ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไป เมื่อ บ. ไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาทจำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพัก โดยเข้าไปในห้องพิพาทแล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตู บานพับหน้าต่างถอดเอาสะพานไฟฟ้าและเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไปจึงไม่มีมูลความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,364, 365(2)(3), 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายบัญญัติเช่าห้องพิพาทซึ่งเป็นห้องพักเลขที่ 406ชามาอพาร์ตเมนต์ ถนนรามคำแหง แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่1 กรกฎาคม 2533 นายบัญญัติและผู้เสียหายได้เข้าอยู่อาศัยในห้องพิพาทมาจนกระทั่งครบกำหนดตามสัญญา และยังคงอาศัยอยู่ในห้องพิพาทตลอดมาจนถึงวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องพิพาทแล้วตัดไฟฟ้า(ถอดสะพานไฟฟ้า) ถอดเครื่องรับโทรศัพท์และกุญแจลูกบิดประตูออกไปคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์นายบัญญัติและผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า นายบัญญัติและผู้เสียหายเข้าอยู่อาศัยในห้องพิพาทตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2533 ครบกำหนดตามสัญญาเช่าวันที่ 9 มกราคม 2534เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว นายบัญญัติและผู้เสียหายยังคงอาศัยอยู่ในห้องพิพาทต่อมาโดยชำระค่าเช่าห้องพิพาทประจำเดือนมกราคม2534 แล้ว สำหรับค่าเช่าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ได้ตกลงกับจำเลยทั้งสองให้นำเงินประกันการเช่าที่นายบัญญัติวางไว้มาหักชำระทำให้นายบัญญัติและผู้เสียหายมีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทได้จนถึงวันที่ 9 มีนาคม 2534 ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยทั้งสองและนายอรพล สมุห์เงิน เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อสัญญาเช่าห้องพิพาทครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาแก่นายบัญญัติแล้วแต่นายบัญญัติและผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาท และไม่ยอมชำระค่าเช่า จนกระทั่งวันเกิดเหตุนายบัญญัติและผู้เสียหายก็ยังไม่ยอมออกไปทั้งได้เปิดน้ำประปาและไฟฟ้าทิ้งไว้ด้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปพูดเรื่องที่มีการเปิดน้ำประปาและไฟฟ้าทิ้งไว้กับเรื่องการออกไปจากห้องพิพาท นายบัญญัติบอกว่าตนจะออกไปจากฟ้องพิพาทดังกล่าวแล้ว ให้จำเลยทั้งสองเอาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกไปได้ จำเลยทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตว่ามีสิทธิทำได้ตามที่นายบัญญัติให้ความยินยอมและตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1
ที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 3และข้อ 9 กำหนดให้ผู้ให้เช่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องเช่าและเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลัน หากผู้เช่าผิดสัญญาเป็นเพียงข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดในทางแพ่ง มิใช่เป็นการยินยอมที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดทางอาญานั้น เห็นว่าตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 3 ระบุว่า”ผู้เช่ายอมชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 30 ของเดือนทุก ๆ เดือนถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ายึดเงินประกันของผู้เช่าได้ และใส่กุญแจห้องผู้เช่าก็ได้ หรือผู้เช่ายินยอมอนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องเช่าได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ”ข้อ 9 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าประพฤติผิดล่วงละเมิดสัญญาแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด หรือกระทำผิดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งข้อใดยอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้ายึดครอบครองสถานที่และสิ่งที่เช่าได้โดยพลันและมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที” และข้อ 10 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าก็ดี หรือผู้เช่าผิดสัญญาเช่าก็ดี ผู้เช่ายอมให้ถือว่าผู้เช่ายอมออกจากที่เช่า” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ นายบัญญัติและจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานี้ เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาและจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่นายบัญญัติด้วยแล้วนายบัญญัติและผู้เสียหายไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทต่อไป เมื่อนายบัญญัติไม่ยอมออกไปจากห้องพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของห้องพิพาทผู้ให้เช่าจึงใช้สิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าห้องพักเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวได้ การกระทำตามฟ้องที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในห้องพิพาทแล้วใช้คีมหนีบกุญแจลูกบิดประตู บานพับหน้าต่างถอดเอาสะพานไฟฟ้าและเครื่องรับโทรศัพท์ในห้องพิพาทออกไปจึงไม่มีมูลความผิดทางอาญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share