คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4850/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาท้ายคำให้การและฟ้องแย้งกำหนดให้โจทก์ทำการค้า ตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด และตามหนังสือบอกเลิกสัญญา เอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งก็มีข้อความว่าโจทก์มิได้ เข้าทำการค้าตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดด้วย เอกสารดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้ง ในวันชี้สองสถานจำเลย ก็แถลงว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่ชำระค่าเช่าและไม่ทำการค้าให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ทำการค้าขายตามเวลาที่กำหนดในสัญญาหรือไม่การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าแผงจำหน่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1มีกำหนดเวลาเช่า 3 ปี ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท และต้องเสียค่าตอบแทนช่วยก่อสร้าง 150,000 บาท ค่าประกันความเสียหาย30,000 บาท จำเลยที่ 1 เปิดให้ผู้เช่าเข้าทำการค้าในเดือนตุลาคม2535 โจทก์ได้ชำระค่าเช่าให้ตามสัญญาและได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1ออกหลักฐานการรับเงินค่าช่วยก่อสร้าง 150,000 บาท และเงินค่าประกันค่าเสียหาย 30,000 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยโจทก์จึงไม่ชำระค่าเช่าในเดือนถัดมา และยังคงทำการค้าตลอดมาต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาและปิดแผงที่โจทก์เช่า ห้ามโจทก์เข้าไปในบริเวณนั้นทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ 390,000 บาท ราคาทรัพย์สินที่ยังค้างอยู่ในแผง25,000 บาท เงินค่าช่วยก่อสร้าง 150,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 595,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535 เป็นต้นมา และไม่เปิดทำการค้าให้ตรงตามกำหนดในสัญญา จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวและเลิกสัญญา และแจ้งให้โจทก์นำสินค้าออกไป แต่โจทก์ไม่นำสินค้าออกไป จำเลยที่ 1 จึงเข้าทำการรักษาทรัพย์สินของโจทก์เมื่อโจทก์กระทำผิดสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินกินเปล่า150,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 30,000 บาท และไม่ต้องชำระค่าขาดประโยชน์ 90,000 บาท ค่าทรัพย์สินที่ยังค้างอยู่ในแผง 25,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้จ้างผู้อื่นดูแลรักษาทรัพย์สินให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536ถึงวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 54,000บาท ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ผิดสัญญาจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 10 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาทขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงิน 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าดูแลรักษาทรัพย์สินอีกเดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะรับคืนทรัพย์สินไปจากจำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบทรัพย์สินที่อยู่ในแผงที่โจทก์เช่าคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน25,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 106,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2537จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ศาลฎีกาสั่งรับข้อเดียวว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ผิดสัญญาเพราะไม่ทำการค้าขายตามวันเวลาที่กำหนดหรือไม่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การว่า ภายหลังที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1แล้ว โจทก์ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าวตามเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 1 เนื่องจากโจทก์ทำการค้าขาดทุนโจทก์ได้ติดค้างและไม่ชำระค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535 เป็นต้นมา ทั้งไม่เข้าเปิดทำการค้าให้ตรงตามกำหนดเวลาตามสัญญาและปิดทำการค้าขายจนจำเลยที่ 1ได้บอกกล่าว และมีหนังสือบอกกล่าว จนกระทั่งจำเลยที่ 1มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้โจทก์นำสินค้าต่าง ๆ ออกไปปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 3 เห็นว่า ตามสัญญาท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 1 ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ทำการค้าตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด และตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 3 มีข้อความว่าโจทก์มิได้เข้าทำการค้าตามวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนดด้วย เอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้ง ในวันชี้สองสถานจำเลยที่ 1 ก็แถลงว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่ชำระค่าเช่าและไม่ทำการค้าให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ฉะนั้น จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ทำการค้าขายตามเวลาที่กำหนดในสัญญาท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข 1ข้อ 8 หรือไม่ด้วย ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบกรณีเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และปรากฏว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง เห็นควรให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและให้ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1), 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share