คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาที่โจทก์รับจ้างจำเลยทั้งสามว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของนั้นมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ส่วนการเริ่มนับอายุความในการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ค่าว่าความนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/12 บัญญัติไว้ว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” และมาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ” ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความถึงกำหนดเมื่อจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งการส่งมอบและรับมอบการงานการที่ทำนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสามพอใจและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสามในศาลชั้นต้นซึ่งคือศาลจังหวัดเชียงใหม่จนศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ต้องถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบและจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาสินจ้างย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษา หาใช่เมื่อคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์นั้นก็น่าเชื่อว่าโจทก์ทำไปโดยพลการ โจทก์จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นอ้างได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสามว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความดำเนินคดีแทนในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1341/2538 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจำเลยทั้งสามในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องกองทัพอากาศกับพวกเป็นจำเลยต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้กองทัพอากาศชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสาม กองทัพอากาศยื่นอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2547 ครั้นวันที่ 4 มกราคม 2548 จำเลยทั้งสามในคดีนี้ได้ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่กองทัพอากาศวางไว้ต่อศาล คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาค่าว่าความได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามได้รับเงินตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นการส่งมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความอย่างสมบูรณ์ และถือเป็นวันที่คดีถึงที่สุด โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่า สัญญาที่โจทก์รับจ้างจำเลยทั้งสามว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของนั้นมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) ส่วนการเริ่มนับอายุความในการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ค่าว่าความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติไว้ว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” และมาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ” ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างความถึงกำหนดเมื่อจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งการส่งมอบและรับมอบการงานการที่ทำนั้นปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า หลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสามไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป อันสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามที่นำสืบว่า ภายหลังจากศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาจำเลยทั้งสามพอใจและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสามในศาลชั้นต้นซึ่งคือศาลจังหวัดเชียงใหม่จนศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ต้องถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบและจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาสินจ้างย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษา หาใช่เมื่อคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์นั้นก็น่าเชื่อว่าโจทก์ทำไปโดยพลการโจทก์จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นอ้างได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share