คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ต้นปาล์มและต้นมะพร้าว โจทก์ทั้งสองจะปลูกไว้ แต่เมื่อเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ผลปาล์มและต้นมะพร้าวจึงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเอาผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าว จะถือว่าทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง ส่วนต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกจึงเป็นเจ้าของต้นกล้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปโค่นทำลาย ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าแม้จะปลูกอยู่ในที่พิพาทแต่ต้นกล้วยเหล่านั้นเป็นของโจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. 4-01 ก เลขที่ 1222 และ เลขที่ 10094 แปลงที่ 9 และที่ 20 กลุ่มที่ 135 อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ตามลำดับ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับต้นผลอาสินของโจทก์ทั้งสองบนที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินในสัญญากู้ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ดินทั้งสองแปลง ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสองบนที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก เลขที่ 1222 แปลงที่ 9 กลุ่มที่ 135 อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก เลขที่ 10094 แปลงที่ 20 กลุ่มที่ 135 อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กับห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามฟ้องทั้งสองแปลงอันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 25,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องสองแปลงเดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อ-สลุย โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมาทางราชการอาศัยมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นผลให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2531 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531 จากนั้นโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทมาขายด้วยการสละการครอบครองให้โจทก์ที่ 1 ในราคา 52,900 บาท โดยทำในรูปสัญญากู้เงินมอบที่ดินยึดถือเป็นประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองไปยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว โดยที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 ได้ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก) เลขที่ 1222 แปลงที่ 9 กลุ่มที่ 135 อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2533 ที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ได้ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก) เลขที่ 10094 แปลงที่ 20 กลุ่มที่ 135 อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2549 โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปออก ส.ป.ก. 4-01 ก ได้ นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองยังได้เข้าไปลักผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าวและต้นกล้วย ที่โจทก์ทั้งสองปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกามีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่าภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น เมื่อไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การห้ามมิให้จำหน่ายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจึงมีผลบังคับทันทีที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ โดยไม่ต้องมาพิจารณาขั้นตอนการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างที่โจทก์ทั้งสองฎีกา และแม้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้อนุญาตให้บุคคลใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างที่โจทก์ทั้งสองฎีกาก็ไม่เกี่ยวข้องกัน ข้อกำหนดห้ามโอนมีผลบังคับทันทีเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531 การที่วันที่ 11 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทมาขายให้โจทก์ที่ 1 จึงอยู่ภายในระยะเวลาสามปี การขายที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 กรณีไม่ใช่มีผลเพียงให้อำนาจคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินห้ามโอนเท่านั้นอย่างที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทในอันที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงเป็นการชอบแล้ว อีกทั้งเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามมาตรา 36 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้ามาด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอน ส.ป.ก. 4-01 ก ของจำเลยทั้งสอง และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ส่วนพืชผลบนที่ดินพิพาท แม้ต้นปาล์มและต้นมะพร้าว โจทก์ทั้งสองจะปลูกไว้ แต่เมื่อเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ผลปาล์มและต้นมะพร้าวจึงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเอาผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าว จะถือว่าทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง ส่วนต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกจึงเป็นเจ้าของต้นกล้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปโค่นทำลาย ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าแม้จะปลูกอยู่ในที่พิพาทแต่ต้นกล้วยเหล่านั้นเป็นของโจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับต้นกล้วยที่ถูกโค่นทำลายให้แก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานอื่นที่น่าเชื่อถือมาเบิกความยืนยันความเสียหาย ทั้งตามภาพถ่ายก็ไม่ปรากฏรายละเอียดที่ชัดเจนว่าต้นกล้วยถูกทำลายทั้งหมดกี่กอ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 50,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2555) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share