คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839-4840/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านเป็นพนักงานขับรถ มีหน้าที่ส่งสินค้าให้ลูกค้าของผู้ร้องซึ่งโดยสภาพของงานเห็นได้ว่าการส่งสินค้าตามคำสั่งของลูกค้าให้ตรงเวลาเป็นส่วนสำคัญของงาน ผู้คัดค้านขาดงานหมายถึงผู้คัดค้านหยุดงานไปโดยไม่ลาและไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงาน อันเป็นการละทิ้งการงานไป ผู้คัดค้านมีสถานะเป็นลูกจ้างของผู้ร้องมีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างโดยสม่ำเสมอและไม่ละทิ้งการงานไปอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับความยุ่งยากในการดำเนินกิจการ แต่ในปี 2544 ผู้คัดค้านขาดงานถึง 10 วัน ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความยุ่งยากในการหาคนมาทำงานแทนโดยกะทันหัน พฤติการณ์ของผู้คัดค้านส่อชี้ถึงความไม่รับผิดชอบต่องานในหน้าที่พนักงานขับรถซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้าสู่กิจการของผู้ร้อง ประกอบกับปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางและคำร้องของ ศ. ภริยาผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ที่จังหวัดจันทบุรี จึงมีเหตุอันสมควรที่ผู้ร้องจะไม่ไว้วางใจให้ผู้คัดค้านยึดถือรถยนต์ น้ำมันรถ และสินค้าของผู้ร้องเพื่อไปส่งให้แก่ลูกค้าต่อไป ซึ่งเป็นเหตุอันเกิดแต่ตัวผู้คัดค้านที่เป็นกรรมการลูกจ้างเอง มีเหตุสมควรที่จะย้ายงานผู้คัดค้านจากพนักงานขับรถไปทำงานในแผนกตัดและซอยเทป แต่ทั้งนี้ให้ผู้คัดค้านได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกบริษัทหลุยส์ผลิตภัณฑ์กาวเทป จำกัด ว่าผู้ร้อง และเรียกนายภิรมย์ กิจปรีชาว่าผู้คัดค้าน
คดีแรกผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ ผู้คัดค้านไม่ไปส่งสินค้าตามคำสั่งหัวหน้าแผนกขนส่ง ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องขออนุญาตตักเตือนผู้คัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรและย้ายผู้คัดค้านไปอยู่แผนกตัดและซอยเทป
ผู้คัดค้านแถลงด้วยวาจาคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทำงานด้วยความตั้งใจเต็มความสามารถ จึงไม่ยินยอมให้ผู้ร้องลงโทษด้วยการย้ายผู้คัดค้านไปอยู่แผนกตัดและซอยเทป
คดีหลังผู้คัดค้านร้องยื่นคำขอให้บังคับผู้ร้องย้ายผู้คัดค้านกลับไปเป็นพนักงานขับรถ โดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิมพร้อมกับนับอายุงานต่อเนื่อง
ผู้ร้องแถลงด้วยวาจาคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่ส่งสินค้าให้ลูกค้าตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายตลอดมา ผู้คัดค้านไม่ไปส่งสินค้าตามที่ได้รับมอบหมาย ปลายเดือนธันวาคม 2544 ผู้ร้องมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทำงานในหน้าที่พนักงานตัดและซอยเทป และวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีเจตนาไม่ไปส่งสินค้าตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา แต่หากผู้คัดค้านขาดงานผู้ร้องสามารถขออนุญาตศาลลงโทษตักเตือนด้วยวาจาได้เช่นเดียวกับพนักงานอื่นแต่ผู้ร้องก็ไม่ทำ จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องถือการขาดงานบ่อยของผู้คัดค้านเป็นสาระสำคัญ ดังนั้นการย้ายผู้คัดค้านไปทำงานในหน้าที่พนักงานตัดและซอยเทปซึ่งมีเวลาทำงานปกติแตกต่างจากหน้าที่เดิมโดยมีการทำงานเป็นช่วงเวลาอันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ลักษณะงานแตกต่างจากงานเดิมมากอันเป็นการเปลี่ยนแปลงงานในส่วนสำคัญ เป็นการกระทำของผู้ร้องฝ่ายเดียวเป็นการผิดสัญญาจ้าง ข้ออ้างในการลงโทษผู้คัดค้านมีเพียงการที่ผู้คัดค้านไม่ไปส่งสินค้าในวันที่ 7 ธันวาคม 2544 เท่านั้น จึงไม่มีเหตุเพียงพอในการสั่งย้ายงานผู้คัดค้าน มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ให้ย้ายผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิมตามสัญญาจ้าง คำขออื่นให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยมีว่าผู้คัดค้านลาป่วย 7 วัน ลากิจ 5 วัน (ตามคำร้องเป็น 15วัน) ขาดงาน 10 วัน เป็นเหตุสมควรที่จะย้ายผู้คัดค้านจากตำแหน่งพนักงานขับรถไปทำงานในแผนกตัดและซอยเทปหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 นายจ้างจะต้องมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างลดค่าจ้าง หรือลงโทษ ซึ่งรวมถึงการย้ายงานลูกจ้างผู้เป็นกรรมการลูกจ้างด้วย โดยเหตุนั้นอาจเกิดจากกรรมการลูกจ้างหรือเป็นเหตุจากทางฝ่ายนายจ้างหรือบุคคลภายนอกก็ได้ ผู้คัดค้านเป็นพนักงานขับรถ มีหน้าที่ส่งสินค้าให้ลูกค้าของผู้ร้องซึ่งโดยสภาพของงานเห็นได้ว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้าสู่กิจการของผู้ร้อง การส่งสินค้าตามคำสั่งของลูกค้าให้ตรงเวลาเป็นส่วนสำคัญของงาน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอย้ายงานผู้คัดค้านจากตำแหน่งพนักงานขับรถไปทำงานในแผนกตัดและซอยเทปโดยอ้างว่าในปี 2544 ผู้คัดค้านลาป่วย 7 วัน ลากิจ 15 วัน และขาดงาน 10 วัน ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานให้ความหมายการขาดงานว่าหมายถึงพนักงานไม่มาทำงานหรือหยุดงานในวันทำงานปกติหรือในวันหยุดที่ผู้ร้องสั่งให้มาทำงานโดยพนักงานลงชื่อรับว่าจะมาทำงาน โดยพนักงานไม่รายงานหรือส่งใบลาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวิธีหนึ่งวิธีใดที่ผู้บังคับบัญชาสามารถทราบได้ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านขาดงานจึงหมายถึงผู้คัดค้านหยุดงานไปโดยไม่ลาและไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบอันเป็นการละทิ้งการงานไป ผู้คัดค้านมีสถานะเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง มีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างโดยสม่ำเสมอและไม่ละทิ้งการงานไปอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับความยุ่งยากในการดำเนินกิจการ แต่ในปี 2544 ผู้คัดค้านขาดงานถึง 10 วัน ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความยุ่งยากในการหาคนมาทำงานแทนโดยกะทันหัน พฤติการณ์ของผู้คัดค้านส่อชี้ถึงความไม่รับผิดชอบต่องานในหน้าที่พนักงานขับรถซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้าสู่กิจการของผู้ร้อง ประกอบกับปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง และคำร้องของนางศรีเวียง ภริยาผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ที่จังหวัดจันทบุรี จึงมีเหตุอันสมควรที่ผู้ร้องจะไม่ไว้วางใจให้ผู้คัดค้านยึดถือรถยนต์ น้ำมันรถ และสินค้าของผู้ร้องเพื่อไปส่งให้แก่ลูกค้าต่อไป ซึ่งเป็นเหตุอันเกิดแต่ตัวผู้คัดค้านที่เป็นกรรมการลูกจ้างเอง มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะย้ายงานผู้คัดค้านจากพนักงานขับรถไปทำงานในแผนกตัดและซอยเทป แต่ทั้งนี้โดยให้ผู้คัดค้านได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องย้ายงานผู้คัดค้านจากพนักงานขับรถแผนกขนส่งไปทำงานในแผนกตัดและซอยเทปได้ โดยให้ผู้คัดค้านได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share