คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4833/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญาคดีก่อนศาลฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่าเหตุกระทำผิดฐานรับของโจรในคดีดังกล่าวเกิดระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา แต่คดีนี้คำฟ้องในข้อหาฐานรับของโจรระบุว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน เมื่อจำเลยรับสารภาพผิดตามฟ้องฐานรับของโจร ก็ต้องถือว่าจำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวในช่วงเวลาที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องคดีนี้ด้วย ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับการที่จำเลยรับของโจรในคดีดังกล่าว การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544 เวลากลางวัน มีคนร้ายใช้ไขควงงัดกุญแจประตูห้องพักเลขที่ 1006/142 ชั้น 24 อาคารมาสเตอร์วิว แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร จนหลุดเปิดออกแล้วเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางสาวปัทมา หลายรุ่งโรจน์ ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักเอาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายท้ายคำฟ้องรวม 22 รายการ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 218,050 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต เหตุลักทรัพย์เกิดที่แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมทรัพย์ของผู้เสียหายบางรายที่ถูกคนร้ายลักไปจึงยึดเป็นของกลาง ทั้งนี้ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต หรือมิฉะนั้นตั้งแต่ระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรับของโจรโดยรับไว้ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกประทุษร้ายท้ายคำฟ้อง ยกเว้นรายการที่ 14, 15, 16, 17 และ 20 รวมเป็นเงิน 192,850 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายไว้จากคนร้าย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เหตุรับของโจรเกิดที่แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน และแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกันก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดพิจิตร ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี ฐานความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 137/2539 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 และพ้นโทษเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2540 จำเลยได้กระทำผิดในคดีก่อนเมื่อมีอายุเกินกว่า 17 ปีแล้ว และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และภายใน 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษจำเลยกระทำผิดคดีนี้ขึ้นอีก และจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10095/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 7341/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 8458/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 8990/2544 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8991/2544 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์หรือรับของโจรทั้งห้าคดี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 334, 335, 357 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 25,200 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10095/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 7341/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 8458/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 8990/2544 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8991/2544 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และยอมรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน ให้ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ โดยให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10095/2544 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7341/2544, 8458/2544, 8990/2544 และ 8991/2544 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 25,200 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขดำดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ และเนื่องจากจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ทรัพย์ที่โจทก์ขอคืนมิใช่ทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปจากการกระทำผิดฐานรับของโจร จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10095/2544 ของศาลอาญากรุงเทพใต้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำฟ้องและเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์หมายเลข 1 ว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10095/2544 นั้นศาลฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยในคดีนั้นว่า เหตุกระทำผิดฐานรับของโจรในคดีดังกล่าวเกิดระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา แต่คดีนี้คำฟ้องในข้อหาฐานรับของโจรระบุว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน เมื่อจำเลยรับสารภาพผิดตามฟ้องฐานรับของโจร ก็ต้องถือว่าจำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวในช่วงเวลาที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องคดีนี้ด้วยซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับการที่จำเลยรับของโจรในคดีดังกล่าว ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยได้รับทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีนั้นไว้ต่างกรรมต่างวาระกัน และเจ้าพนักงานจับจำเลยและยึดของกลางคดีทั้งสองสำนวนได้ในคราวเดียวกันก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับของโจรคดีนี้ในวันเดียวกันและในคราวเดียวกันกับการรับของโจรในคดีดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมา การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10095/2544 ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นการกระทำกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share