คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ขอหักกลบลบหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/33 นั้น เป็นระบบการจัดการทรัพย์สินในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ที่จะนำหนี้ที่ตนมีภาระต้องชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อยู่แล้วในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปหักกับหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
มาตรา 90/33 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ” ย่อมหมายถึงในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างเป็นหนึ่งซึ่งกันและกัน มิได้หมายถึงช่วงระยะเวลาที่ลูกหนี้อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ฉะนั้น หนี้ที่เจ้าหนี้จะนำมาหักกลบลบหนี้ได้นั้นเจ้าหนี้ต้องเป็นหนี้ลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้ได้
ถ้าเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้หลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเช่นกัน เจ้าหนี้และลูกหนี้ย่อมสามารถนำหนี้ที่มีต่อกันมาหักกลบลบหนี้กันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 โดยหากเจ้าหนี้เป็นฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้แล้วก็ย่อมทำได้โดยการแสดงเจตนาต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 และตั้งบริษัทสยามซินเทค แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายตั๋วเงิน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาให้การอุปการะในทางการเงินโดยการค้ำประกัน ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงานและสัญญาให้เงินช่วยเหลือการก่อสร้าง รวมเป็นเงิน 410,383,670.63 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอหักกลบลบหนี้ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ขอหักหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในหนี้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมค้างของสินเชื่อกับเงินคืนประกันผลงานจำนวน 12,487,416.04 บาท ฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2544 ขอหักหนี้เงินค่าก่อสร้างจำนวน 6,338,125.15 บาท ที่เจ้าหนี้จะต้องชำระแก่ลูกหนี้กับหนี้คืนเงินช่วยเหลือการก่อสร้างเนื่องจากผิดสัญญาจำนวน 478,124.60 บาท และหนี้ดอกเบี้ยสินเชื่อจำนวน 5,860,000.55 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 410,383,670.63 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเงินคืนค่าประกันผลงานจำนวน 12,487,416.05 บาท และหนี้เงินค่าก่อสร้างจำนวน 7,063,497.58 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้นำมาหักกลบลบหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/33
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า หนี้ของทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และของลูกหนี้อยู่ในข่ายที่เจ้าหนี้สามารถใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ตามมาตรา 90/33 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้กับลูกหนี้ย่อมทำให้เจ้าหนี้จะต้องชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เต็มจำนวนฝ่ายเดียว ส่วนหนี้ที่ลูกหนี้ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ในจำนวนที่เท่ากัน ต้องกลายเป็นหนี้ตามแผนซึ่งต้องลูกลดหนี้ลงจำนวนมาก และขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปย่อมขัดกับหลักแห่งความยุติธรรม
ผู้บริหารแผนยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอหักกลบลบหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินประกันผลงานที่เจ้าหนี้จะต้องคืนแก่ลูกหนี้นั้นมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาตามสัญญา และเจ้าหนี้ได้แสดงเจตนาขอปลดหลักประกันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ที่ต้องคืนเงินประกันผลงานนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ส่วนหนี้เงินค่าจ้างก่อสร้างที่ลูกหนี้ส่งมอบงานให้เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 เจ้าหนี้จึงมีหนี้ที่ต้องชำระให้ลูกหนี้ตามเงื่อนไขเงื่อนเวลาเมื่อได้รับมอบงานแล้ว อันเป็นเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกัน เจ้าหนี้จึงไม่สามารถที่จะหักกลบลบหนี้กับลูกหนี้ได้ตามมาตรา 90/33 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เนื่องจากหนี้ที่จะหักกลบลบหนี้ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้และลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งกันและกันในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ไม่รวมถึงหนี้ที่มีเงื่อนไข เงื่อนเวลา และเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการด้วย หากให้เจ้าหนี้นำหนี้ที่เป็นหนี้ลูกหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการมาหักกลบลบหนี้กันได้แล้ว จะทำให้เจ้าหนี้สามารถที่หักกลบลบหนี้ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งมาตรา 90/33 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ และไม่ได้กำหนดให้นำเอาหนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลามาหักกลบลบหนี้กันได้ อย่างเช่น มาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการหักกลบลบหนี้ต่อไป
ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผนว่า เจ้าหนี้จะนำหนี้ที่เป็นหนี้ลูกหนี้ในมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างและมูลหนี้คืนเงินประกันผลงาน (PETENTION) มาหักกลบลบหนี้กับสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ขอหักกลบลบหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/33 นั้น เป็นระบบการจัดการทรัพย์สินในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ที่จะนำหนี้ที่ตนมีภาระต้องชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้อยู่แล้วในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปหักกับหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ในมาตรา 90/33 ที่บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ” บทบัญญัติที่ว่า “เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ” ย่อมหมายถึงในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน มิได้หมายถึงช่วงระยะเวลาที่ลูกหนี้อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ฉะนั้น หนี้ที่เจ้าหนี้จะนำมาหักกลบลบหนี้ได้นั้น เจ้าหนี้ต้องเป็นหนี้ลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ได้ อย่างไรก็ตามถ้าเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้หลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และได้สิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วเจ้าหนี้และลูกหนี้ย่อมสามารถนำหนี้ที่มีต่อกันมาหักกลบลบหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 โดยหากเจ้าหนี้เป็นฝ่ายที่ขอหักกลบลบหนี้แล้วก็ย่อมทำได้โดยการแสดงเจตนาต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ย่อมไม่อาจขอให้นำสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการมาหักกลบลบหนี้ในหนี้จำนวนนี้ได้ ส่วนที่เจ้าหนี้ขอนำเงินค่าจ้างก่อสร้างที่จะต้องจ่ายแก่ลูกหนี้ดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับหนี้คืนเงินช่วยเหลือการก่อสร้างจำนวน 478,124.60 บาท เป็นการที่เจ้าหนี้ขอนำหนี้ที่ตนต้องชำระแก่ลูกหนี้อันเกิดหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงต้องแจ้งความประสงค์ในการขอหักกลบลบหนี้กับผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี จะขอหักกลบลบหนี้ส่วนนี้โดยการแสดงเจตนาในชั้นขอรับชำระหนี้หาได้ไม่ สำหรับหนี้คืนเงินประกันผลงานการก่อสร้างตามสัญญาให้เงินช่วยเหลือการก่อสร้าง ลงวันที่ 29 มีนาคม 2542 ข้อ 2.3 ที่ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างมีสิทธิหักเงินไว้จำนวนร้อยละ 20 ของเงินช่วยเหลือที่เบิกในงวดใดก็ได้ตามแต่เห็นสมควร และผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหักเงินจากเงินค่างานก่อสร้างที่ส่งมอบใน 2 งวดสุดท้าย…ไว้เพื่อประกันผลงานของผู้รับจ้างจำนวนร้อยละ 2.5 ของมูลหนี้ค่างานก่อสร้างทั้งหมด…” ประกอบกับที่มีบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาให้ความช่วยเหลือการก่อสร้างฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 ระบุว่า ผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างขยายระยะเวลาก่อสร้างต่อไปเป็นครั้งที่สองเพื่อให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคม 2543 ความในบันทึกฉบับนี้ข้อ 2 ระบุว่า ผู้ว่าจ้างตกลงผ่อนผันการหักเงินจากค่างวดงานที่เบิกในเดือนกันยายน 2542 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการขยายเวลาครั้งแรกเป็นหักเฉลี่ย 4 งวด จากเงินค่างวดที่เบิกในเดือนตุลาคม 2542 ถึงเดือนมกราคม 2543 ปรากฏว่าลูกหนี้ได้ก่อสร้างอาคารภายในระยะเวลาที่ขยายและได้ส่งมอบงานก่อสร้างงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วปรากฏหลักฐานที่เจ้าหนี้ได้เสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชัดเจนว่าเงินประกันผลงานก่อสร้างจำนวน 12,487,416.04 บาท เจ้าหนี้ได้หักจากเงินช่วยเหลือก่อสร้างในงวดงานใดงานหนึ่งเป็นจำนวนเท่าใด และมีจำนวนเงินที่หักไว้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำนวนเท่าใด กับจำนวนเงินค่าประกันที่ได้หักภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วมีจำนวนเท่าใด ดังนี้ เงินประกันค่าผลงานการก่อสร้างดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ ในส่วนเงินวางประกันที่เจ้าหนี้ได้หักไว้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ย่อมมีหนี้ที่จะต้องคืนเงินดังกล่าวแก่ลูกหนี้โดยมีเงื่อนไขอันเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ที่ให้เจ้าหนี้ยึดหน่วงเงินดังกล่าวไว้เป็นประกันผลงานการก่อสร้างเพื่อความชำรุดบกพร่องหลังรับมอบงานมาแล้ว 1 ปี ครั้นเจ้าหนี้ได้สละเงื่อนไขอันเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จึงสามารถขอนำเงินค่าประกันที่จะต้องคืนจำนวนดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่ตนขอรับชำระหนี้ได้ ส่วนเงินประกันค่าก่อสร้างใดที่เจ้าหนี้หักไว้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ก็มิใช่หนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ย่อมไม่อาจมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ของเจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/33 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการนำหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ทั้งสองรายการมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางยังมิได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นคัดค้านคำสั่งของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 24 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิหักกลบลบหนี้เงินคืนค่าประกันผลงานในจำนวนที่เจ้าหนี้ได้รับไว้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ได้ในจำนวนที่เท่ากัน

Share