คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4832/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุได้จัดให้มีที่จอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยแจกบัตรจอดรถให้กับผู้มาใช้บริการที่ทางเข้าและรับบัตรจอดรถคืนที่บริเวณทางออกของห้างสรรพสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าจัดให้บริการรักษาความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของผู้มาใช้บริการที่จะนำเข้ามาจอดในที่จอดรถขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมในการดูแลรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดยังที่จอดรถของจำเลยที่ 2 ด้วย
ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยแจกบัตรจอดรถที่ทำจากกระดาษแข็งชนิดอ่อนเคลือบด้วยพลาสติกใส ไม่ระบุวันเดือนปีและเวลารถเข้าออก ไม่ระบุหมายเลขทะเบียนรถที่แล่นผ่านเข้าในห้าง เพียงแต่ระบุหมายเลขประจำบัตรจอดรถเท่านั้น อันเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบัตรจอดรถไปจากบัตรเดิมที่สามารถตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถให้ตรงกับบัตรได้ การนำบัตรจอดรถซึ่งไม่ระบุรายละเอียดรถที่แล่นผ่านเข้าห้างมาใช้เช่นนี้ จำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นได้ว่าบุคคลอื่นอาจนำบัตรจอดรถดังกล่าวมาใช้เพื่อนำรถคันอื่นๆ ออกจากที่จอดรถในบริเวณห้างจำเลยที่ 2 ได้โดยง่าย พฤติการณ์ซึ่งจำเลยทั้งสองผ่อนปรนการใช้ความระมัดระวังในการตรวจตรารถซึ่งผ่านเข้าออกห้างจำเลยที่ 2 ด้วยการจัดให้นำบัตรที่ไม่ระบุวันเดือนปี เวลาและหมายเลขทะเบียนรถที่แล่นผ่านเข้าห้างจำเลยที่ 2 มาใช้ในวันเกิดเหตุ โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบใดๆ เพิ่มเติม จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นผลโดยตรงทำให้รถที่โจทก์รับประกันภัยถูกลักไป ถือว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 นายจ้าง และจำเลยที่ 2 ตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 420,410 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 สิงหาคม 2548) ต้องไม่เกิน 20,410 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 7984 ลพบุรี จากนายบุญเสริม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2547 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 ตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลผู้ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าชื่อบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำเลยที่ 2 ว่าจ้างให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 เวลา 12.30 นาฬิกา นายเอกชัยบุตรนายบุญเสริมผู้เอาประกันภัยได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดที่ห้างของจำเลยที่ 2 ก่อนเข้าห้างได้รับบัตรจอดรถ แล้วเข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 2 เมื่อซื้อสินค้าเสร็จได้กลับมาที่ที่จอดรถปรากฏว่ารถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไป โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 400,000 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุน ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุได้จัดให้มีที่จอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยแจกบัตรจอดรถให้กับผู้มาใช้บริการที่ทางเข้าและรับบัตรจอดรถคืนที่บริเวณทางออกของห้างสรรพสินค้า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าจัดให้บริการรักษาความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของผู้มาใช้บริการที่จะนำเข้ามาจอดในที่จอดรถขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมในการดูแลรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดยังที่จอดรถของจำเลยที่ 2 ด้วย ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความนายอนันต์ พนักงานจำเลยที่ 2 ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายป้องกันการสูญหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ในบางวันซึ่งมีลูกค้ามาใช้บริการไม่มาก พนักงานรักษาความปลอดภัยจะแจกบัตรจอดรถซึ่งเป็นบัตรฉีกและจดหมายเลขทะเบียนรถที่แล่นผ่านเข้าในห้าง แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยแจกบัตรจอดรถที่ทำจากกระดาษแข็งชนิดอ่อนเคลือบด้วยพลาสติกใส ไม่ระบุวันเดือนปีและเวลารถเข้าออก ไม่ระบุหมายเลขทะเบียนรถที่แล่นผ่านเข้าในห้าง เพียงแต่ระบุหมายเลขประจำบัตรจอดรถเท่านั้น อันเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบัตรจอดรถไปจากบัตรเดิมที่สามารถตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถให้ตรงกับบัตรได้ การนำบัตรจอดรถซึ่งไม่ระบุรายละเอียดรถที่แล่นผ่านเข้าห้างมาใช้เช่นนี้ จำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นได้ว่าบุคคลอื่นอาจนำบัตรจอดรถดังกล่าวมาใช้เพื่อนำรถคันอื่น ๆ ออกจากที่จอดรถในบริเวณห้างจำเลยที่ 2 ได้โดยง่าย พฤติการณ์ซึ่งจำเลยทั้งสองผ่อนปรนการใช้ความระมัดระวังในการตรวจตรารถซึ่งผ่านเข้าออกห้างจำเลยที่ 2 ด้วยการจัดให้นำบัตรที่ไม่ระบุวันเดือนปี เวลาและหมายเลขทะเบียนรถที่แล่นผ่านเข้าห้างจำเลยที่ 2 มาใช้ในวันเกิดเหตุ โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบใด ๆ เพิ่มเติม จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นผลโดยตรงทำให้รถที่โจทก์รับประกันภัยถูกลักไป ถือว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 นายจ้าง และจำเลยที่ 2 ตัวการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า รถที่โจทก์รับประกันภัยมีอายุการใช้งานมาแล้ว 4 ปี ขณะสูญหายรถดังกล่าวมีราคาในท้องตลาดเพียง 250,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดเพียง 250,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามจำนวนความคุ้มครองที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์กรณีรถที่รับประกันภัยสูญหายคือ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 เพียงแต่ให้การต่อสู้ลอยๆ ว่า รถที่โจทก์รับประกันภัยขณะสูญหายมีราคาเพียง 250,000 บาท โดยไม่นำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างดังกล่าว เมื่อพิจารณายี่ห้อ รุ่น และอายุการใช้งานของรถดังกล่าวขณะสูญหายแล้ว เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 400,000 บาท ตามคำขอของโจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2547 นั้นเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share