คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาจาก ท. แล้วจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทที่ให้เช่าซื้อแต่ ท. ยอมให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าซื้อได้และโจทก์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ได้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา จำเลยที่ 1ต้องผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างว่าขณะทำสัญญาโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ จึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่ จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวไว้ในอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง จึงเป็นการอุทธรณ์ที่มิได้กล่าวไว้ชัดแจ้งในอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์มีอำนาจไม่รับวินิจฉัยได้ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกา ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาทไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 การที่จะพิจารณาให้คู่ความใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ ของศาลโดยคำนึงถึงเหตุผลและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียงงวดที่หนึ่งและงวดที่สองอีกบางส่วน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มิได้นำเงินมาชำระอีกเลย โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 และได้ติดตามยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมา โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าเสื่อมสภาพรถยนต์จำนวน 100,000 บาท โจทก์ต้องทำการซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่เพื่อให้ใช้งานได้ดีคิดเป็นเงิน2,932.17 บาท และค่าปรับในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คิดเป็นเงินจำนวน 7,851.75 บาท ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด หากโจทก์นำรถยนต์พิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเฉลี่ยวันละ 300 บาท เป็นค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 72,900 บาท และโจทก์ติดตามยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมา เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 188,683.93 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 188,683.93 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่นิติบุคคล ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายฟ้องว่ารถยนต์พิพาทเลขทะเบียนเท่าใด และโจทก์มีกรรมสิทธิ์อย่างไร เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2524 พนักงานโจทก์มาไต่ถามจำเลยที่ 1 และว่ารถยนต์บรรทุกยี่ห้อฮีโน หกล้อบริษัทฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ให้เช่าซื้อในราคา 520,000 บาทถ้าต้องการเช่าซื้อทางบริษัทของรถให้วางเงินมัดจำ 5,000 บาท และชำระเงินดาวน์อีก 75,000 บาท ในการชำระเงินแต่ละครั้งเพื่อความสะดวกให้จำเลยชำระผ่านโจทก์โจทก์จะเป้นผู้จัดส่งให้แก่บริษัทเจ้าของรถ ส่วนรถนั้นบริษัทจะจัดส่งผ่านมาทางโจทก์ให้จำเลยไปรับมอบในตอนหลัง จำเลยทั้งสองตกลงตามที่พนักงานของโจทก์แนะนำจำเลยได้ชำระเงินมัดจำและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์รับไปรวมทั้งสิ้น 80,000บาท และได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์อีกหลายงวด งวดละ 14,500บาท รวมเป็นเงิน 43,500 บาท เมื่อรวมกับเงินมัดจำและเงินดาวน์จำนวน 80,000 บาท และค่าประกันจำนวน 15,500 บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ไปทั้งสิ้น 139,000 บาท จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ต่อมาพนักงานของโจทก์ได้มายึดรถยนต์พิพาทกลับคืนไป จำเลยที่ 1 ได้ใช้งานรถยนต์พิพาทเพียงระยะเวลาอันสั้นยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก ไม่ชำรุดทุดโทรมหรือเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าติดตามค่าเสื่อมสภาพ ค่าซ่อมแซม ค่าอะไหล่ และค่าปรับตลอดทั้งค่าขาดประโยชน์ หากโจทก์เสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาก็สูงเกินความจริงทั้งค่าปรับในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนั้น จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะมิได้กำหนดว่าจะคิดจากจำนวนเงินยอดใดโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยมูลเหตุจากสัญญาเช่าซื้อซึ่งในลักษณะเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะเช่าทรัพย์ซึ่งมีอายุความ 6 เดือนมาใช้บังคับ แต่โจทก์มาฟ้องเมื่อเกิน 6 เดือนคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 23,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ให้นายถนัดดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 ชำระเงินมัดจำและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 80,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียงบางงวดต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2525 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนมาได้
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการไม่ชอบของศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวด้วยนั้นปัญหานี้จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีว่าเมื่อระหว่างเดือนตุลาคม2525 จำเลยที่ 1 ต้องการจะเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกยี่ห้อฮีโน่หกล้อพนักงานโจทก์มาไต่ถามจำเลยที่ 1 และว่ารถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวบริษัทฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ให้เช่าซื้อในราคา 520,000 บาท ถ้าต้องการเช่าซื้อทางบริษัทเจ้าของรถให้วางเงินมัดจำ 5,000 บาท และชำระเงินดาวน์อีก 75,000 บาท ในการชำระเงินแต่ละครั้งเพื่อความสะดวกให้จำเลยชำระผ่านโจทก์ โจทก์จะเป็นผู้จัดส่งให้แก่บริษัทเจ้าของรถ ส่วนรถนั้นบริษัทจะจัดส่งผ่านมาทางโจทก์ให้จำเลยไปรับมอบในตอนหลังจำเลยทั้งสองตกลงตามที่พนักงานของโจทก์แนะนำต่อมาพนักงานของโจทก์ได้นำเอาแบบพิมพ์บางส่วนของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน โดยยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ ให้จำเลยที่ 1ลงชื่อในช่องผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันอย่างละ 2 ชุด และบอกว่าจะส่งสัญญานี้ไปให้บริษัทเจ้าของรถ จำเลยได้ชำระเงินมัดจำและเงินดาวน์ให้แก่โจทก์รับไปรวมทั้งสิ้น 80,000 บาและรถยนต์คันดังกล่าวนั้นเจ้าของได้ส่งผ่านโจทก์มอบให้แก่จำเลยศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาท ซึ่งชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้วินิจฉัยเพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจึงมีอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยเรื่องโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือไม่ อันจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การปรับบทกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ตามที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยนั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัย แต่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ได้ความจากนายถนัดพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาจากบริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ในขณะโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทนั้นโจทก์ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ปัจจุบันโจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อเรียบร้อยแล้วตามสำเนาใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 ระหว่างสัญญาเช่าซื้อบริษัทดังกล่าวได้ยอมให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าซื้อได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีหากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทครบ โจทก์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้เมื่อโจทก์ยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมา โจทก์ได้ขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วในราคา 350,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์โจทก์จึงไม่ได้กระทำการแทนบริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ดังคำให้การของจำเลยทั้งสอง โจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทที่ให้เช่าซื้อก็ตาม แต่บริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด ยอมให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าซื้อได้ และโจทก์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา ดังนี้จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะกลับมาอ้างว่าขณะทำสัญญาโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อ จึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเป็นการไม่ชอบ ขอศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวใหม่ด้วย เห็นว่า จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวไว้ในอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง จึงเป็นการอุทธรณ์ที่มิได้กล่าวไว้แจ้งชตัดในอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์มีอำนาจไม่รับวินิจฉัยได้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปอีกว่า มูลคดีของโจทก์อาศัยเหตุจากโจทก์อ้างว่า ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมา ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาอันเป็นสัญญาประธาน จึงต้องถืออายุความตามสัญญาประธาน ซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาไว้เฉพาะ โดยมีกำหนดอายุควา 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 เมื่อค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาทอาศัยเหตุจากสัญญาประธาน ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นส่วนอุปกรณ์เท่านั้น อายุความจึงต้องมีกำหนด 6 เดือน ค่าเสียหายดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาท ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่มีอายุความ 6 เดือนดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปอีกว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดสูงเกินไป ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาทและค่าปรับเป็นเรื่องของโจทก์เองจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมาเป็นเวลากว่า 8 เดือน ระหว่างนั้นโจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนมา ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาท 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์พิพาท 1,000 บาท เบี้ยปรับ 2,000 บาทนั้น เหมาะสมแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประกานสุดท้ายว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความ 7,000 บาทแทนโจทก์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น แต่ศาลไม่คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี เพราะคดีนี้โจทก์ชนะคดีไม่เต็มฟ้องนั้นเห็นว่าการที่จะพิจารณาให้คู่ความใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุผลและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 และศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้เหมาะสมแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share