แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงของจำเลยที่โจทก์ผู้บริโภคซื้อมาจากร้านค้ามีเชื้อราปนเปื้อน จำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการจึงมีภาระการพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าหรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นเฉพาะของจำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อพยานบุคคลฝ่ายจำเลยเบิกความประกอบพยานเอกสารแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและวิธีการผลิตข้าวสารบรรจุถุงของจำเลยจนกระทั่งขนส่งให้แก่ลูกค้า จำเลยมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอดเวลา โดยดำเนินการจัดทำระบบตามหลักการผลิตที่ดีเพื่อเป็นหลักในการประกันคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหาร และระบบควบคุมอันตรายไม่ให้ไปสู่ผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการผลิต โดยโรงงานบรรจุข้าวถุงของจำเลยเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองทั้งสองระบบ ระบบคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ได้รับการประเมินตรวจสอบและได้ใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าตรามาบุญครองของจำเลยมีความสะอาดและถูกสุขอนามัยโดยใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยเพื่อตอบสนองความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่าข้าวสารบรรจุถุงที่ผลิตในวันเดียวกันกับข้าวสารบรรจุถุงปัญหาที่โจทก์ซื้อไปไม่ปรากฏว่ามีข้าวสารบรรจุถุงที่มีเชื้อราปนเปื้อนอีก แสดงว่าเชื้อราที่ปนเปื้อนไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าหรือการขนส่งของจำเลย
การที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีภาระการพิสูจน์ว่า ข้าวสารถุงบรรจุของจำเลยในคดีนี้เสียหายเพราะอะไรและใครเป็นผู้ทำให้เสียหาย นั้น โจทก์ไม่อาจผลักภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวให้แก่จำเลย เนื่องจากการมีเชื้อราปนเปื้อนในข้าวสารบรจุถุงของจำเลยไม่อยู่ในความรู้เห็นเฉพาะของจำเลย แต่กลับอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์เท่านั้น ซึ่งเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นในข้าวสารบรรจุถุงของจำเลยอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ที่จำเลยไม่อาจทราบได้และไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะต้องนำสืบถึงความเสียหายว่าเกิดจากผู้ประกอบการคนใดอันเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 6 เนื่องจากจำเลยสามารถปลดเปลื้องภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับการผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าและการขนส่งได้แล้ว ทั้งหากให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับข้าวสารบรรจุถุงเสียหายเพราะอะไรและใครเป็นผู้ทำให้เสียหาย ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยและอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในทางการค้าได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้าวสารบรรจุถุงของจำเลยมิได้เป็นสินค้าไม่ปลอดภัย จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 7 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่จิตใจของโจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิตข้าวถุงตรามาบุญครองเพื่อจำหน่าย โจทก์ซื้อข้าวถุงหอมมะลิ 100 เปอร์เซนต์ (คัดพิเศษ) ตรามาบุญครอง ขนาด 5 กิโลกรัม ในราคา 170 บาท มาเพื่อบริโภคจากร้านชื่อพลอย โจทก์เทข้าวถุงเพื่อนำมาหุงบริโภคปรากฏว่า ข้าวถุงดังกล่าวมีเชื้อราปนเปื้อน โจทก์นำข้าวถุงไปให้เจ้าของร้านพลอยดู เจ้าของร้านพลอยรับว่าเป็นข้าวถุงที่โจทก์ซื้อไปจากร้านของตนและยอมเปลี่ยนข้าวถุงใหม่ให้ แต่โจทก์ไม่ยินยอมและนำข้าวปนเปื้อนไปแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและเรียกค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งโจทก์ว่า จำเลยไม่ยอมรับว่าเป็นข้าวของจำเลยตามหนังสือแจ้งผลการตรวจข้าวหอมมะลิ สำหรับข้าวถุงหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ (คัดพิเศษ) ตรามาบุญครอง ขนาด 5 กิโลกรัม ที่โจทก์อ้างว่ามีเชื้อราปนเปื้อนนั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ข้าวถุงดังกล่าวเป็นสินค้าของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า ข้าวถุงหอมมะลิที่มีเชื้อราปนเปื้อนเป็นสินค้าของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้าวถุงหอมมะลิของจำเลยเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ซื้อข้าวถุงของจำเลยมาเพียงถุงเดียว มิได้ซื้อมาเป็นจำนวนมากและนำมาเก็บรักษาไว้ การใช้โจทก์ก็ปฏิบัติเหมือนเช่นเคยปฏิบัติมาโดยเมื่อซื้อข้าวมาแล้วก็จะเทใส่ภาชนะที่ใช้หุงหาและในทางนำสืบโจทก์ก็นำสืบให้เห็นว่าเช่นปุถุชนทั่วไปปฏิบัติโดยที่จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดอย่างต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 6 แล้ว ส่วนความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการผู้ใด ไม่ใช่หน้าที่ที่โจทก์จะต้องเป็นผู้นำสืบซึ่งภาระการพิสูจน์ในกรณีนี้ตกอยู่แก่จำเลย แต่จำเลยมิได้พิสูจน์ว่าข้าวสารบรรจุถุงของจำเลยในคดีนี้เสียหายเพราะอะไร ใครเป็นผู้ทำให้เสียหาย แต่จำเลยกลับนำสืบยืนยันว่ากระบวนการผลิตได้มาตรฐาน สินค้าที่มีอยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่มีความเสียหาย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าสินค้าของจำเลยซึ่งได้แก่ข้าวบรรจุถุงในคดีนี้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบหรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือนหรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งานและการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้าวถุงหอมมะลิของจำเลยที่โจทก์ในฐานะผู้บริโภคซื้อมาจากร้านพลอย มีเชื้อราปนเปื้อน จำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการจึงมีภาระการพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าหรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 บัญญัติไว้ เมื่อจำเลยมีนายสุรชัย ผู้รับมอบอำนาจของจำเลย นายปรีชา ตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิตและปรับปรุงคุณภาพสินค้า นางสาวจรรยา ตำแหน่งผู้จัดการแผนกประกันและควบคุมคุณภาพ นายธนชัย ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปธุรกิจโลจิสติกส์ นายภานุรุจ ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย และนายศรัณย์ภัทร ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นพนักงานของจำเลยมาเป็นพยานเบิกความประกอบพยานเอกสารแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและวิธีการผลิตข้าวถุงของจำเลยจนกระทั่งขนส่งให้แก่ลูกค้า จำเลยมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอดเวลา จากการที่จำเลยดำเนินการจัดทำระบบตามหลักการผลิตที่ดีเพื่อเป็นหลักในการประกันคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหาร ระบบควบคุมอันตรายไม่ให้ไปสู่ผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการผลิต โดยโรงงานบรรจุข้าวถุงของจำเลยเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองทั้งสองระบบ และระบบคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ได้รับการประเมินตรวจสอบและได้ใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ผลิตภัณฑ์สินค้าตรามาบุญครองของจำเลยมีความสะอาดและถูกสุขอนามัยโดยใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยเพื่อตอบสนองความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนั้นจำเลยยังนำสืบอ้างอีกว่า ข้าวถุงที่ผลิตในวันเดียวกันกับข้าวถุงที่มีปัญหาที่โจทก์ซื้อไปไม่ปรากฏว่ามีข้าวถุงที่มีเชื้อราปนเปื้อนอีก แสดงว่าเชื้อราที่ปนเปื้อนไม่ได้เกิดในขั้นตอนการผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าหรือการขนส่งของจำเลย มิเช่นนั้นข้าวถุงน่าจะมีเชื้อราปนเปื้อนมากกว่า 1 ถุง โจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อหักล้างข้อนำสืบของจำเลยข้างต้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าหรือการขนส่งของจำเลยมีข้อบกพร่องอันเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราปนเปื้อน ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าข้าวสารบรรจุถุงของจำเลยในคดีนี้เสียหายเพราะอะไรและใครเป็นผู้ทำให้เสียหายนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่อาจผลักภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวให้แก่จำเลยเนื่องจากการมีเชื้อราปนเปื้อนในข้าวถุงของจำเลยไม่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยแต่กลับอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์เท่านั้น ซึ่งเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นในข้าวถุงของจำเลยอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ โดยจำเลยไม่อาจทราบได้และไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะต้องนำสืบถึงความเสียหายว่าเกิดจากผู้ประกอบการคนใดอันเป็นการขัดต่อมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ดังโจทก์ฎีกา เนื่องจากจำเลยสามารถปลดเปลื้องภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับการผลิตหรือส่วนผสมของสินค้าและการขนส่งได้แล้วดังวินิจฉัยมาข้างต้น หากจำเลยมีภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับข้าวสารเสียหายเพราะอะไรและใครเป็นผู้ทำให้เสียหายดังที่โจทก์ฎีกา ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยและอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในทางการค้าได้ ดัวยเหตุดังวินิจฉัยมาข้างต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้าวถุงของจำเลยมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการ จึงไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัยตามพระราชบัญญัติรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 7 (1) ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บ ค่ารับรองของเอกสารและค่าส่งคำคู่ความในชั้นอุทธรณ์จากโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืนและให้คืนค่ารับรองเอกสารและคำสั่งคำคู่ความในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ