แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานบุกรุกและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีเสร็จเด็ด ขาดไปแล้วในคดีก่อน เมื่อที่ดินสาธารณประโยชน์ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับในคดีก่อน ซึ่งจำเลยได้เข้ายึดถือและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา ตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องคดีก่อนและยังไม่ได้ออกไปจำเลยไม่ได้กระทำการอันใดขึ้นใหม่ แม้วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยทราบแล้วว่าที่ดินที่จำเลยยึดถือและครอบครองอยู่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันก็ตาม เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในการกระทำเดิม ซึ่งมีคำพิพากษาเสร็จเด็ด ขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(4) ส่วนข้อหาฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า แม้คำสั่งของนายอำเภอที่สั่งให้จำเลยเลิกการบุกรุกที่ดินที่พิพาทจะเป็นคำสั่งเรื่องเดียวกันกับคำสั่งฉบับแรกก็ตาม แต่เป็นคำสั่งฉบับใหม่ซึ่งได้มีคำสั่งหลังจากศาลพิพากษาในคดีก่อนว่าที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันแล้ว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใหม่นี้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดใหม่ ฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ท่คี่ 122 ให้จำเลยคนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินที่จำเลยเข้าไปยึดถือ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 และมาตรา 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ 368 เฉพาะความผิดตามมาตรา 9,108 ทวิ และมาตรา 360 ตามประมวลกฎหมายทั้งสองดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360ให้ดจำคุก 2 ปี และความผิดตามมาตรา 368 จำคุก 10 วัน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 2 ปี 10 วัน ให้จำเลยคนงาน ผู้รับจ้าง ผุ้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าวด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยโจทก์จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงกันเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อปี 2504 จำเลยได้เข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ ในที่ดินสาธารณะดอนตะกอก ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อกรุอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่อันเป็นที่พิพาทกันในคดีนี้ นายอำเภอเดิมบางนางบวชได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินสาธารณะดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2525จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ยอมปฏิบัติตามจึงถูกดำเนินคดี โดยพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีได้เป็นกโจทก์เป็นฟ้องจำเลยนี้ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน และขอให้ศาลสั่งให้จำเลย คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่บุกรุกด้วย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่1302/2525 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินที่จำเลยเข้าทำกินเป็นที่ดินสาธารณะดอนตะกอก แต่การที่จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิที่จะเข้าทำกินได้เนื่องจากได้ทำประโยชน์มาเป็นเวลานาน การที่จำเลยไม่ออกจากที่สาธารณะส่วนที่จำเลยทำกินมิใช่เกิดเพราะเจตนาบุกรุกที่สาธารณะหรือเจตนาขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่มีความผิดพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกจากที่ดินตามฟ้องซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกัน จำเลยอุทธรณ์ว่าที่พิพาทคือที่ดอนสะเดาไม่ใช่ที่ดอนตะกอก และศาลไม่มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยออกจากที่พิพาท คำพิพากษาของศาลซึ่งให้จำเลยออกจากที่พิพาทจึงไม่ผูกพันจำเลย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่รวมอยู่ในปัยหาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัย ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าศาลไม่มีอำนาจพิพากษาาให้ดกจำเลยออกไปจากที่พิพาทนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2499 มาตรา 9, 108, 108 ทวิ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิพากษาให้ดจำเลยขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกดังกล่าว เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสามพิพากษาแก้เป็นว่าคำขอของโจทก์ซึ่งขอให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินด้วยนั้น ให้ยกเสียนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปรากฎรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 637/2527 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยได้ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2528 โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกา คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในที่ดินตามฟ้องในคดีเดิม ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2520 นายอำเภอเดิมบางนางบวช ได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยเลิกการบุกรุกที่ดินดังกล่าว จำเลยทราบคำสั่งแล้วยังไม่ได้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวจนบัดนี้
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำเนื่องจากจำเลยกระทำความผิดขึ้นใหม่นั้น เห็นว่า สำหรับความผิดฐานบุกรุกและความผิดทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เมื่อที่ดินสาธารณประโยชน์ที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยกระทำความาผิดคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับในคดีก่อน ซึ่งจำเลยได้เข้ายึดถือและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องคดีเดิมและยังไม่ได้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวจนบัดนี้ จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดขึ้นใหม่ แม้วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้จะเป็นวันเวลาภายหลังจากที่จำเลยทราบแล้วว่าที่ดินที่จำเลยึดถือและครอบครองอยู่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันก็ตาม เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในการกระทำเดิมซึ่งมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ส่วนข้อหาฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า แม้คำสั่งของนายอำเภอเดิมบางนางบวชที่สั่งให้จำเลยเลิกการบุกรุกที่ดินที่พิพาทจะเป็นคำสั่งเรื่องเดียวกันกับคำสั่งฉบับแรกก็ตาม แต่เป็นคำสั่งฉบับใหม่ซึ่งได้มีคำสั่งหลังจากศาลพิพากษาในคดีก่อนว่าที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันแล้ว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใหม่นี้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดใหม่ ฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคแรก จำคุก 10 วัน และปรับ 500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยเพื่อกลับตัวจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.