คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482-483/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ยังไม่ได้พิมพ์โฆษณาชื่อโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ในราชกิจจานุเบกษา และ ป.พ.พ. มาตรา 1023 บัญญัติว่า บริษัทจะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนยังไม่ได้จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาแล้วก็ตาม แต่การบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้บุคคลทั่วไปทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทมีโอกาสทราบถึงรายการต่างๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่เมื่อตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต/ใบกำกับภาษีที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1 ได้ระบุชื่อโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ไว้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบถึงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถยกเอาเรื่องที่ยังไม่มีการพิมพ์โฆษณาข้อความในส่วนชื่อโจทก์ที่มีการจดทะเบียนแก้ไขใหม่มาเป็นข้อต่อสู้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 310,680.57 บาท พร้อมเบี้ยปรับค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2.96 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน 211,342.76 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ต่อมาในระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 2 มาศาลและยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ว่า ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 211,342.76 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมชำระหนี้ล่าช้าและค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดรวมอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันเลิกสัญญา (เลิกสัญญาวันที่ 20 กันยายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 205,235.42 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ที่ถูก คำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น) ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ยังไม่ได้มีการลงพิมพ์โฆษณาการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อโจทก์จากเดิมเป็นบริษัทสมาร์ท แคช จำกัด ในราชกิจจานุเบกษา โจทก์จึงไม่อาจใช้ชื่อบริษัทสมาร์ท แคช จำกัด ฟ้องร้องจำเลยทั้งสองได้ เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 จะบัญญัติไว้ว่า “ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าวแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้” ก็ตาม แต่การบัญญัติไว้ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสทราบถึงรายการต่างๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนั้นเมื่อปรากฏตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต/ใบกำกับภาษีที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 เป็นต้นมาว่า โจทก์ได้ระบุชื่อที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ไว้ในเอกสารดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบถึงการที่โจทก์ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทสมาร์ท แคช จำกัด แล้ว จำเลยที่ 1 จึงหาอาจยกเอาเรื่องที่ยังไม่มีการโฆษณาข้อความในส่วนชื่อโจทก์ซึ่งมีการจดทะเบียนแก้ไขใหม่ในราชกิจจานุเบกษามาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share