คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจ่ายเบี้ยเลี้ยงในส่วนของการทำงานครบจำนวนวันในงวดการทำงาน และได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มโดยรวมส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์นั้น การจะได้รับเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้ต่อเมื่อทำงานครบจำนวนวันในงวดการทำงาน 15 วัน หากทำงานไม่ครบจำนวนวันจะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง การจ่ายเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้จึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ แต่เป็นการจ่ายเพื่อจงใจให้พนักงานรายวันขยันมาทำงานทุกวันจึงมิใช่ค่าจ้าง แต่การจ่ายเบี้ยเลี้ยงประจำวัน วันละ 10 บาท เป็นการจ่ายแก่พนักงานรายวันทุกวันที่มาทำงาน จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 5 ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 5 ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนในทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 จำนวน 2 ฉบับ ถึงโจทก์ แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีปี 2545 และผลการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างกองทุนประกันสังคม 2545 โดยมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเงินทดแทนเพิ่มจำนวน 24,548.93 บาท ภายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 หากเกินกำหนดต้องชำระเงินสมทบเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 3 ต่อเดือน และมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มจำนวน 85,884 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนโจทก์จึงได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการอุทธรณ์ตามลำดับ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า เงินเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการจ่ายเพื่อเป็นการตอบแทนในการทำงานจึงเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเป็นเงินสมทบส่งกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานโจทก์มีหลักเกณฑ์การจ่ายเพื่อจูงใจในการทำงานของพนักงานรายวันโดยเมื่อพนักงานรายวันได้มาทำงานในวันทำงานปกติโจทก์จะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ 10 บาท ต่อ 1 วัน เว้นแต่พนักงานไม่มาทำงานเนื่องจากเจ็บป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ขาดงาน ลากิจ แต่หากไม่มาทำงานเพราะเนื่องจากเจ็บป่วยจากการทำงานหรือเจ็บป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดงหรือใช้สิทธิพักร้อน โจทก์ยังคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานที่ไม่มาทำงานในวันดังกล่าว และหากในรอบการคำนวณค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 15 และวันที่ 16 ถึงวันสิ้นเดือน พนักงานได้มาทำงานในวันทำงานปกติครบทุกวัน โจทก์จะจ่ายเบี้ยเลี้ยงเพิ่มให้แก่พนักงานรวมเป็น 150 บาท หากพนักงานทำงานไม่ครบทุกวันในวันทำงานปกติ ก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเท่ากับวันที่พนักงานมาทำงานเท่านั้น การจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ดังกล่าวจึงไม่เป็นค่าจ้างการที่จำเลยนำเงินเบี้ยเลี้ยงมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและให้โจทก์ชำระเงินเพิ่ม จึงไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ นฐ. 0030/53835 และ นฐ. 0030/53834 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ นฐ. 0030/53835 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 เรื่อง แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีปี 2545 และตามหนังสือที่ นฐ. 0030/53834 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 เรื่อง แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างกองทุนประกันสังคมปี 2545
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 และพระรชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 นิยามศัพท์คำว่า ค่าจ้างในทำนองเดียวกันว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายของค่าจ้างไว้ว่าต้องเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์ของการจ่ายเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติของลูกจ้างที่ทำให้แก่นายจ้าง เมื่อพิจารณาจากคำสั่งเรื่องการปรับเปลี่ยนสวัสดิการและค่าแรงของพนักงานรายวัน และตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังปรากฏว่า โจทก์ได้ออกประกาศคำสั่ง 3 ข้อ โดยข้อ 1 ระบุให้ปรับค่าจ้างแก่พนักงานรายวันเข้าใหม่เพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกจำนวน 5 บาท และเมื่อมีอายุการทำงานครบ 2 เดือน จะปรับเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3 บาทต่อวัน ส่วนข้อ 2 ระบุให้พนักงานรายวันที่เริ่มเข้าทำงานใหม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงประจำวันวันละ 10 บาท หรือ 150 บาท ต่องวดการทำงาน 15 วัน โดยรวมวันหยุดประจำสัปดาห์ด้วย ในกรณีที่พนักงานมาทำงานไม่ครบจำนวนวันทำงานในงวดการทำงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเท่ากับจำนวนวันที่มาทำงานจริงเท่านั้น เว้นแต่กรณีป่วยเนื่องจากการทำงาน การลาป่วยที่มิใบรับรองแพทย์และการลาพักร้อน ดังนี้ การจ่ายเงินตามคำสั่งเรื่องการปรับเปลี่ยนสวัสดิการและค่าแรงของพนักงาน จึงมีสองส่วนคือ การปรับค่าจ้างตามข้อ 1 และการกำหนดให้พนักงานรายวันได้รับเบี้ยเลี้ยงตามข้อ 2 การจ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละ 10 บาท หรือ 150 บาท ต่องวดการทำงาน 15 วัน จะได้รับทุกวันที่มาปฏิบัติงานและหากมาทำงานครบงวดการทำงานจะได้รับเพิ่มในส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์ซึ่งปกติพนักงานรายวันจะไม่มีสิทธิได้รับด้วย แต่หากมาทำงานไม่ครบจำนวนวันทำงานในงวดการทำงานนั้น ก็จะได้รับเฉพาะเพียงวันที่มาทำงาน แต่จะไม่ได้รับเพิ่มในส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์ ยกเว้นกรณีลาหรือป่วยดังกล่าว การจ่ายเบี้ยเลี้ยงในส่วนของการทำงานครบจำนวนวันในงวดการทำงานและได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มโดยรวมส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์นั้น การจะได้รับเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้ต่อเมื่อทำงานครบจำนวนวันในงวดการทำงาน 15 วัน หากทำงานไม่ครบจำนวนวันก็จะไม่ได้รับ การจ่ายเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้จึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ แต่เป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานรายวันขยันมาทำงานทุกวันจึงมิใช่ค่าจ้าง แต่การจ่ายเบี้ยเลี้ยงประจำวัน วันละ 10 บาท เป็นการจ่ายแก่พนักงานรายวันทุกวันที่มาทำงาน จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ที่จะต้องนำมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนต่อไป อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้ไขเป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ นฐ.0030/53835 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 เรื่อง แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีปี 2545 และตามหนังสือที่ นฐ. 0030/53834 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 เรื่อง แจ้งผลการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างกองทุนประกันสังคมปี 2545 เฉพาะส่วนที่จำเลยนำค่าเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างเพิ่มในส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์ วันละ 10 บาท มาคำนวณเงินสมทบ

Share