แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้รับประเมินให้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์ไม่พอใจในการประเมินได้ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำชี้ขาดและแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ถ้าโจทก์ไม่พอใจจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 โดยต้องฟ้องศาลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด กำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้รับประเมินฟ้องต่อศาลคือศาลภาษีอากรกลาง มิใช่อายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 จึงนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ แม้คดีจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 270 ถึง 272 ถนนสามเสน แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2531 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2539 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารและที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงเป็นเจ้าของอาคารและที่ดินจนถึงปัจจุบัน จำเลยเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เมื่อต้นปี 2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์ทั้งสามทราบ วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 โจทก์ทั้งสามได้ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่จำเลยแล้ว แต่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสามจึงได้ขอให้จำเลยพิจารณาการประเมินใหม่เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2543 จำเลยได้แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทั้งสามทราบสำหรับปีภาษี 2542 โจทก์ที่ 3 ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์ที่ 3 ทราบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 โจทก์ที่ 3 ได้นำเงินภาษีไปชำระแก่จำเลยแล้ว แต่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง โจทก์ที่ 3 จึงได้ขอให้จำเลยพิจารณาการประเมินใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2543 จำเลยได้แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ที่ 3 ทราบ โจทก์ทั้งสามเห็นว่าคำชี้ขาดของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นหนังสือลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อมาโจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือจากศาลปกครองกลางแจ้งว่าไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามไว้พิจารณาเนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โจทก์ทั้งสามเห็นว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยขัดต่อมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายต้องชำระภาษีโรงเรือนเกินไป 22,325 บาท คดีของโจทก์ทั้งสามยังไม่ขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งสามได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ต่อมาสำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยโจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2544 จึงมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 รวม 9 ฉบับ และลงวันที่17 พฤษภาคม 2542 รวม 1 ฉบับ และเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 30 เล่ม 22 เลขที่ 85 ลงวันที่ 7 เมษายน 2543 และเล่มที่ 22 เลขที่ 86 ลงวันที่ 7 เมษายน 2542 (ที่ถูกควรเป็น พ.ศ. 2543) ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 22,325 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่า เดิมโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนเลขที่ 270 ถึง 272 ถนนสามเสน แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2539 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 3 เมื่อต้นปี 2541 โจทก์ทั้งสามได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2534 ถึง 2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินภาษีและส่งใบแจ้งรายการประเมินให้โจทก์ทั้งสามแล้ววันที่ 27 กรกฎาคม 2541 โจทก์ทั้งสามชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินแล้วได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 โจทก์ทั้งสามได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 สำหรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ดังกล่าวทั้งหมด วันที่ 1 พฤษภาคม 2543 โจทก์ทั้งสามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 104 ถึง 107 วันที่ 24 เมษายน 2544 สำนักงานศาลปกครองมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบว่าศาลปกครองชั้นต้นได้รับโอนเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสามจากคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 6 มิถุนายน 2544 โจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครองกลางลงวันที่ 4 มิถุนายน 2544 ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ โจทก์ทั้งสามจึงมาฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แล้วจึงเป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับฟ้องคดี ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(5) โจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพราะถ้าโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จะไม่รับเรื่องของโจทก์ทั้งสามไว้พิจารณาตามพระราชกฤษฎีกา (ที่ถูกพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา) พ.ศ. 2522 มาตรา 20(3) อีกทั้งขณะนั้นศาลปกครองยังไม่เปิดดำเนินการ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์ทั้งสามจะฟ้องต่อศาลปกครอง แต่เมื่อศาลปกครองกลางได้จัดตั้งขึ้นแล้วก็ได้มีการโอนเรื่องที่โจทก์ทั้งสามร้องทุกข์ไปเป็นคดีของศาลปกครองกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 103 แม้ต่อศาลปกครองกลางจะวินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองโจทก์ทั้งสามก็ยังมีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางซึ่งเป็นศาลยุติธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 106 และคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสามที่ยื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ถือเป็นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17วรรคสอง โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางได้ แม้จะพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้รับประเมินให้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่พอใจในการประเมินนั้นจึงได้ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพ-มหานครมีคำชี้ขาดและแจ้งไปยังโจทก์ทั้งสามเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ถ้าโจทก์ทั้งสามไม่พอใจในคำชี้ขาดและแจ้งไปยังโจทก์ทั้งสามเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ถ้าโจทก์ทั้งสามไม่พอใจในคำชี้ขาดจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 คือนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง โดยต้องฟ้องภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด กำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้รับประเมินฟ้องต่อศาลและศาลในกรณีนี้คือศาลภาษีอากรกลางกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่อายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 จึงนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างในอุทธรณ์มาใช้บังคับไม่ได้ แม้คดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามมิได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วคดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสามอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน