แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยร่วมและเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมต้องย้ายภูมิลำเนาไปประกอบอาชีพในที่ต่าง ๆ หลายแห่งบ่อย ๆ จึงได้ส่งจำเลยที่ 1 ไปอยู่กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้เรียนหนังสือตั้งแต่จำเลยที่ 1 ยังมีอายุประมาณ10 ปี ตลอดมาเป็นเวลา 8-9 ปีแล้ว จำเลยร่วมส่งเสียให้เล่าเรียนโดยให้เบิกเงินจากจำเลยที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุเมื่อมีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่สถานีตำรวจก็ได้ระบุในข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 โดยจำเลยที่ 2 หาจำต้องเป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายไม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คือจากจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ดังนั้นการที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 จำนวน 40,000 บาท แล้วได้ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นั้น จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 จึงหาใช่โจทก์สละสิทธิเรียกค่าเสียหายไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายอัลเบิรท์ เอ็ม วอชิงตันสัญชาติอเมริกัน และนางวันทนา เอ็ม วอชิงตัน สัญชาติไทยบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายไปนานแล้ว หลังจากบิดาถึงแก่ความตายโจทก์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์จำเลยที่ 2 เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองควบคุมดูแลรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-6797 ลำปาง จำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-6797 ลำปาง จากจังหวัดลำปางมุ่งหน้าไปอำเภอเกาะคา ตามถนนสายลำปาง-เกาะคา โดยมีจำเลยที่ 2ที่ 3 นั่งไปด้วย จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาท คือขับรถด้วยความเร็วสูงแซงรถยนต์หมายเลขทะเบียน 20-1287 ลำปาง ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้า โดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถแล่นสวนมาหรือไม่ เมื่อแซงออกไปแล้วจึงพบว่ามีรถจักรยานยนต์แล่นสวนทางมา จำเลยที่ 1 จึงหักรถหลบไปทางซ้ายอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 20-1287 ลำปาง อย่างแรง ทำให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน20-1287 ลำปาง เสียหลักตกถนนพลิกตะแคง เป็นเหตุให้นางวันทนามารดาโจทก์ซึ่งนั่งโดยสารมาในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 20-1287 ลำปางได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การที่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ 1 ปล่อยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ขับรถโดยไม่ห้ามปราม และนั่งมาในรถกับจำเลยที่ 1 ด้วยส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถและนั่งมาในรถด้วยจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถคันดังกล่าว จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำให้มารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ขณะมารดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ มารดาโจทก์มีรายได้จากเงินสงเคราะห์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นรายเดือนเดือนละ 1,126 ดอลล่าร์ หรือเท่ากับเงินไทยในขณะยื่นฟ้อง 28,150 บาท ซึ่งมารดาโจทก์จะให้โจทก์เป็นเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท เมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่ความตายรัฐบาลสหรัฐอเมริกางดจ่ายเงินให้แก่มารดาโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ขาดรายได้ไปอย่างน้อยเดือนละ 15,000 บาทขณะมารดาโจทก์ถึงแก่ความตายอายุ 40 ปีมีร่างกายแข็งแรง หากมารดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อยอีก 20 ปี และสามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 15,000 บาท จนโจทก์บรรลุนิติภาวะขอคิดค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามเป็นเงินเดือนละ 15,000 บาทนับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นไปจนโจทก์บรรลุนิติภาวะเป็นเงินทั้งสิ้น 690,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 690,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายคีหรือเซียะคี แซ่อั่งบิดาจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่เคยได้รับรายได้จากมารดาเดือนละ 15,000 บาท ส่วนค่าเสียหายอื่น ๆจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน186,833.33 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยร่วมและเป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมต้องย้ายภูมิลำเนาไปประกอบอาชีพในที่ต่าง ๆ หลายแห่งบ่อย ๆ จึงได้ส่งจำเลยที่ 1ไปอยู่กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้เรียนหนังสือตั้งแต่จำเลยที่ 1ยังมีอายุประมาณ 10 ปี ตลอดมาเป็นเวลา 8-9 ปีแล้ว จำเลยร่วมส่งเสียให้เล่าเรียนโดยให้เบิกเงินจากจำเลยที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุเมื่อมีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเกาะคาก็ได้ระบุในข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 430 โดยจำเลยที่ 2 หาจำต้องเป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น จะถือว่าโจทก์ได้สละสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 และไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองควบคุมดูแลรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คือจากจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกแต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 ดังนั้นการที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3จำนวน 40,000 บาท แล้วได้ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นั้น จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3จึงหาใช่โจทก์สละสิทธิเรียกค่าเสียหายไม่
พิพากษายืน