คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ผู้มีส่วนได้เสีย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง มีความหมายถึงผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพย์มรดกโดยตรง มาแต่ต้นในขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ร. มารดาของเจ้ามรดกแม้จะมีอายุถึง 95 ปี แต่เมื่อ ร.ยังมีชีวิตอยู่ร. จึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ส่วนผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 อันเป็นลำดับถัดลงมา ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่งและการที่ผู้ร้องเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นายนิวัติ ประจันเขตต์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 ผู้ตายเป็นบุตรของพันตำรวจโทกระจ่าง ประจันเขตต์ กับนางริ้ว ประจันเขตต์พันตำรวจโทกระจ่างเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2506 ผู้ตายไม่มีภริยาและบุตร ดังนั้น นางริ้วจึงเป็นทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียวขณะมีชีวิตอยู่ผู้ตายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 8031 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นางริ้วทายาทโดยธรรมของผู้ตายปัจจุบันอายุ 95 ปี เดินไม่ได้และช่วยเหลือตนเองไม่ได้นอนป่วยอยู่ที่บ้านจึงไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ผู้ร้องเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ร้องได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ หรือถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายมาก่อน ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกในคดีนี้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายนิวัติ ประจันเขตต์ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 8031 เป็นทรัพย์มรดกและไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายไม่มีภริยาและบุตรผู้ตายเป็นบุตรของพันตำรวจโทกระจ่าง ประจันเขตต์กับนางริ้ว ประจันเขตต์ พันตำรวจโทกระจ่างตายไปตั้งแต่ปี 2506 ส่วนนางริ้วมารดาผู้ตายยังคงมีชีวิตอยู่ปัจจุบันมีอายุ95 ปี โดยเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวผู้ร้องเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ผู้ร้องได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายจนถึงปัจจุบัน
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่าการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่จะยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ความหมายของคำว่าผู้มีส่วนได้เสียมีความหมายถึงผู้ได้รับประโยชน์จากทรัพย์มรดกโดยตรงมาแต่ต้นในขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนี้ เมื่อปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าในขณะเจ้ามรดกรายนี้ถึงแก่ความตายนางริ้วซึ่งเป็นมารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ นางริ้วเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ส่วนผู้ร้องซึ่งเป็นน้องสาวเจ้ามรดกและเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 อันเป็นลำดับถัดลงมา จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้ร้องเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
พิพากษายืน

Share