คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเมาสุรานั่งไปด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 2แทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น ตัวการ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถในขณะเกิดเหตุ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ให้ จำเลย ที่ 2 รับผิดในฐานะตัวการด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดข้อนี้แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มิใช่เจ้าของรถคันเกิดเหตุ แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถที่จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับทำให้รถของโจทก์เสียหาย และทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๑๓,๓๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ยื่นคำฟ้องแล้วส่งสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ โจทก์ไม่แถลงต่อศาลเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยที่ ๒ มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน๔๓,๑๘๖.๖๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๑พฤศจิกายน ๒๕๒๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า การที่รถจำเลยที่ ๑ ไม่มีไฟหน้าทำให้โจทก์เพิ่งมองเห็นรถที่จำเลยที่ ๑ ขับสวนทางมาในระยะประมาณ ๓ วา โจทก์ไม่อาจขับรถหลบได้ทันจึงเกิดชนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้หากรถที่จำเลยที่ ๑ ขับมีไฟหน้า โจทก์ย่อมมองเห็นรถที่จำเลยที่ ๑ ขับได้ในระยะไกล รถโจทก์คงไม่แล่นเข้าไปในทางที่รถจำเลยที่ ๑ขับสวนทางมาแล้วเกิดเหตุชนกันขึ้น และวินิจฉัยว่า ดังนั้นเหตุที่รถของโจทก์กับรถที่จำเลยที่ ๑ ขับชนกันแม้จะเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ขับรถเลี้ยงเข้าไปในทางที่รถที่จำเลยที่ ๑ ขับแล่นสวนทางมา จึงเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ มีส่วนในการกระทำโดยประมาทด้วยอย่างมาก
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ ๑ขับรถของจำเลยที่ ๒ โดยมีจำเลยที่ ๒ ซึ่งเมาสุรานั่งไปกับรถที่จำเลยที่ ๑ ขับถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถอันเป็นกิจการของจำเลยที่ ๒ แทนจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการ แม้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง และข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถในขณะเกิดเหตุ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในฐานะเป็นตัวการตัวแทนด้วย ซึ่งตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑จึงไม่เป็นการวินิจฉัยโดยมิชอบ
ปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า รถจักรยานยนต์ที่เสียหายเป็นรถของนางบุญตาซึ่งเป็นป้าของโจทก์ที่โจทก์นำมาใช้แล้วเกิดเหตุรถชนกันจนเสียหายใช้การไม่ได้โจทก์ไม่ใช่เจ้าของจึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวเสียหายได้และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิด แม้ในข้อนี้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มิใช่เจ้าของรถคันเกิดเหตุ แต่ในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสได้๒ ใน ๓ ส่วน เป็นเงิน ๓๖,๕๒๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๓๖,๕๒๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน๒๕๒๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share