คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4810/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งกำหนดให้มีการนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) โดยอาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมทำให้ทั้งศาลจังหวัดบุรีรัมย์กับศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ต่างมีอำนาจชำระคดีนี้ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลใดศาลหนึ่งดังกล่าวได้ การที่ศาลจังหวัด บุรีรัมย์มีคำสั่งเรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาล เพราะเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและ ประหยัดแก่ประชาชนในพื้นที่ สำหรับคดีนี้เมื่อความผิดที่โจทก์ ฟ้องเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) และไม่ปรากฏว่ามีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่อาจ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ได้ การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์ นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) นั้นจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 23, 37 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสืบเนื่องมาจากศาลนี้ได้มีคำสั่งออกไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า) มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่เกิดเหตุคดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพื่อใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญาทั้งปวง ทั้งนี้โดยเป็นการจำเป็นที่จะให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดแก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จะต้องนำตัวบุคคลดังกล่าวไปแถลงฟ้องด้วยวาจาต่อศาล ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ตามคำสั่งดังกล่าว จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องให้นำบุคคลดังกล่าวไปฟ้องที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ตามคำสั่งดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์เรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น เป็นคำสั่งจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นมาใหม่ซ้ำซ้อนกับศาลจังหวัดบุรีรัมย์และศาลจังหวัดนางรองที่มีกฎหมายรับรองให้จัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วขึ้นมาอีกศาลหนึ่งซึ่งมีลักษณะและรูปแบบครบถ้วนเป็นศาลยุติธรรมตามกฎหมาย จึงเป็นการตั้งศาลหรือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีการตราพระราชบัญญัติให้จัดตั้งศาลดังกล่าวขึ้น และการเปิดทำการศาลก็ไม่มีกฎหมายรองรับสนับสนุนให้ประกาศเปิดทำการโดยการตราเป็นกฎหมายในรูปแบบของพระราชกฤษฎีกา ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 มาตรา 221 และมาตรา 234 ถือว่าเป็นอันใช้บังคับไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541 เรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีข้อความว่า “ด้วยกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ประชาชนในอำเภอนางรอง ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลต้องประสบความยากลำบากในการเดินทางมาใช้สิทธิทางศาล เป็นเหตุให้ไม่สามารถกระจายความยุติธรรมไปอย่างทั่วถึง ทั้งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์พ.ศ. 2537 แล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังมีอุปสรรคไม่อาจเปิดทำการได้เพื่อยังให้การเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอันถือเป็นความจำเป็น สมควรให้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง)ในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า) มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่อำเภอดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงกำหนดให้มีการนั่งพิจารณาณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) เพื่อใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งคดีอาญาทั้งปวงตามความในมาตรา 16 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม” เห็นว่า คำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวมีถ้อยคำชัดเจนว่าเป็นเรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มิใช่เป็นการจัดตั้งศาลขึ้นใหม่ต่างหากจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใดเขตอำนาจศาลที่กำหนดในคำสั่งนี้ก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ บรรดาคดีที่กำหนดในคำสั่งให้นั่งพิจารณา ณ ที่ว่าการอำเภอนางรอง ก็ยังคงอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดบุรีรัมย์การที่คำสั่งดังกล่าวระบุให้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า) นั้น มิใช่เป็นการกำหนดสถานที่เปิดเป็นที่ตั้งศาลถาวรแห่งใหม่ แต่เป็นการกำหนดสถานที่เพื่อให้ประชาชนทราบว่า ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีที่ทำการอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอนางรองในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า) เท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้นั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่น หรือที่ใด ๆ ภายในเขตอำนาจของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่ออำนวยความสะดวกและความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีอย่างทั่วถึง คำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นมาใหม่ไม่ขัดต่อบทกฎหมายรัฐธรรมนูญดังที่โจทก์ฎีกา
โจทก์ฎีกาขัดต่อไปว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 น่าจะหมายความถึงการนั่งพิจารณาคดีเดิมที่ยื่นไว้ต่อศาล ณ สถานที่อื่น ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือเป็นการจำเป็นเท่านั้น ไม่รวมถึงการฟ้องคดีใหม่เช่นคดีนี้ด้วย คำว่าจำเป็นนั้นโจทก์เห็นว่าต้องเป็นกรณีที่ตกอยู่ในภาวะการณ์ที่บังคับ หรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือเป็น กรณีอันรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายขึ้นในทางใด ๆกับบุคคลทรัพย์สิน ความมั่นคงเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองได้ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 218 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังขัดแย้งกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกาและยังขัดพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5, 6, 10 อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถอนเรื่องโครงการเปิดศาลจังหวัดนางรองและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถจัดหางบประมาณมาสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดังนั้น คำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงเป็นไปโดยไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานในรัฐบาลได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ระบุเป็นที่มาแห่งอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าวบัญญัติว่า ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้นในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลจะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า การนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้น ในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี ดังนั้น คำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ตามบทบัญญัติในมาตรา 35 จึงต้องแปลความหมายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายดังกล่าวด้วยกล่าวคือย่อมรวมถึงการนั่งพิจารณาคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาคดีอันได้แก่ การยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอต่าง ๆ มิใช่แปลจำกัดเคร่งครัดแต่เฉพาะการนั่งพิจารณาคดีเป็นรายเรื่องไป เพราะมิฉะนั้นแล้วย่อมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์แห่งกฎหมาย และหาประโยชน์อันแท้จริงมิได้ อีกทั้งการแปลความจำกัดเฉพาะอำนาจที่จะกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นไม่รวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกและล่าช้ายิ่งขึ้น อนึ่ง แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(9) จะให้คำนิยามคำว่าการนั่งพิจารณาหมายความว่าการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวนฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา แต่เมื่อถ้อยคำในมาตรา 35 มีวัตถุประสงค์แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ หมายความรวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาด้วยแล้ว การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541 กำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า)จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่อำเภอนางรองและอำเภออื่น ๆ ดังกล่าวในคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงเป็นคำสั่งที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่ให้อำนาจออกคำสั่งซึ่งมีความหมายถึงการนั่งพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอนางรองและอำเภออื่นที่ระบุในคำสั่ง รวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย และการที่มีคำสั่งระบุกำหนดการนั่งพิจารณาของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จึงถือว่าเป็นการจำเป็นตามความหมายแห่ง มาตรา 35 ด้วย หาต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 วรรคสอง หรือความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 แต่อย่างใด เพราะวัตถุประสงค์ในการบัญญัติกฎหมายแต่ละฉบับย่อมแตกต่างกันไปอีกทั้งการที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้นก็เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นในการที่ต้องมีศาลจังหวัดเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอนางรองและอำเภออื่น ๆ ดังกล่าวในคำสั่งคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และการมีคำสั่งดังกล่าว มาตรา 35 ก็มิได้จำกัดว่าต้องเป็นการนั่งพิจารณาคดีเดิมที่ยื่นไว้ต่อศาล ณ สถานที่อื่นดังที่โจทก์อ้างในฎีกา ทั้งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งให้เปิดทำการศาลจังหวัดนางรอง จึงไม่ต้องกระทำในรูปของพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด และไม่ขัดกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 5 เพราะมาตรา 5 เป็นอำนาจของรัฐมนตรีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลที่ให้ไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 เป็นอำนาจคนละส่วนคนละองค์กรกัน และโดยที่คำสั่งดังกล่าวมิใช่การตั้งศาลใหม่หรือยุบเลิกศาลเดิม จึงไม่ขัดกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 6 กับไม่นอกเหนืออำนาจของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 10 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลอาจมีอำนาจอื่นตามที่กฎหมายให้ไว้นอกเหนือจากอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 10 ก็ได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลนั้น เห็นว่า ศาลเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุ ลาการ เมื่อคำสั่งที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์กำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคำสั่งที่ชอบ อยู่ในกรอบที่กฎหมายให้อำนาจแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนย่อมต้องปฏิบัติตามและการกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ในกรณีนี้กระทำโดยผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ในศาลจังหวัดบุรีรัมย์นั่นเอง จึงมิได้สิ้นเปลืองงบประมาณแต่อย่างใด และจากถ้อยคำในคำสั่งดังกล่าวเองก็แสดงว่า ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ได้พิจารณาออกคำสั่งดังกล่าวโดยนำนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงยุติธรรมมาประกอบในการพิจารณาออกคำสั่งด้วยแล้ว จึงได้ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและเป็นการแก้ปัญหาที่รัฐบาลยังไม่สามารถหา งบ ประมาณมาเปิดทำการศาลจังหวัดนางรองได้
โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยด้วยการเสนอข้อหาเป็นหนังสือพร้อมส่งตัวจำเลยมาศาล จำเลยให้การรับสารภาพศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษจำเลยตามกฎหมายการสั่งไม่รับฟ้องเป็นผลให้คดีดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น เป็นเหตุให้จำเลยถูกจับและถูกฟ้องดำเนินคดีที่ศาลถึงสองครั้งในคดีเดียวกัน เป็นการสร้างความเดือด ร้อนให้แก่ประชาชนที่ต้องหาคดีอาญาดังกล่าวนั้น เห็นว่า ผลของคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541 เรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ทั้งศาลจังหวัดบุรีรัมย์กับศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ต่างมีอำนาจชำระคดีนี้ และโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลใดศาลหนึ่งดังกล่าวได้ แต่เมื่อเหตุผลที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งดังกล่าวก็เพราะเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและประหยัดแก่ประชาชนในพื้นที่ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงใช้ดุลพินิจที่จะรับคำฟ้องหรือไม่ก็ได้ สำหรับคดีนี้เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) กรณีไม่ปรากฏว่ามีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ได้ การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541 โดยฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ตั้งแต่แรก จำเลยมีแต่จะได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางไปศาล มิใช่ได้รับความเดือด ร้อนดังที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นศาลที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้รับคำฟ้อง คดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง เพราะเป็นศาลที่ไม่ได้ตั้งขึ้น โดยพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 นั้น เห็นว่า ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) เป็นที่ทำการศาลอีกแห่งหนึ่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มิได้เป็นศาลใหม่แยกต่างหากจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติแต่อย่างใด ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) จึงมีอำนาจรับคำฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบ กับมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ฎีกาข้อต่อไปของโจทก์เกี่ยวกับนิยามของคำว่า “การจำเป็น” ก็ดี การตั้งศาลกำหนดอำนาจศาลและกำหนดวันเปิดทำการศาลจะต้องออกมาในรูปแบบของบทบัญญัติของกฎหมายก็ดี ล้วนเป็นข้อที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จะทราบได้อย่างไรว่าคดีที่จะเกิดขึ้นนั้นมีจำนวนมากน้อยเท่าใด เป็นประเภทคดีใดบ้างและแต่ละคดีนั้นจะมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า จำนวนคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นสามารถประมาณการได้จากสถิติ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาและคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวก็ได้ระบุไว้โดยชัดเจนว่ามีความจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ห่างไกลต้องประสบความยากลำบากในการเดินทางมาใช้สิทธิทางศาล ซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินหรือความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะคดีแต่อย่างใด และมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็มิได้จำกัดว่าจะต้องมีคำสั่งเฉพาะคดีเป็นเรื่อง ๆ ไปดังที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด
ที่โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร มาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นบทบัญญัติที่ระบุไว้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่มีเหตุจำต้องวินิจฉัยประเด็นคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติในมาตรา 35 ไปในการใด ๆ ต่อไปอีกนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” ดังนั้น การที่ศาลแปลความมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
พิพากษายืน

Share