คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำผิดของจำเลยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2544เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดแม้พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้มิได้มีฝ่ายอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ซึ่งยังไม่ได้คืนจำนวน 2,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ซึ่งยังไม่ได้คืนจำนวน 2,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2544 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจนถึงวันที่ 8 มีนาคม2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลักทรัพย์สร้อยข้อมือทองคำของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้มิได้มีฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตามแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share