แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ในชั้นสอบสวนจะต้องไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพนั้นเองเพียงแต่มีคำพยานว่าจำเลยได้รับสารภาพต่อพยานดังที่ได้สอบสวนจากบันทึกไว้ยังไม่เป็นหลักฐานประกอบคำรับสารภาพนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2493 เวลากลางคืน จำเลยได้บังอาจใช้ปืนพกลูกซองชนิดทำเองยิงนายชื่น ศิริประสพ ที่ทรวงอกมีบาดเจ็บสาหัสถึงแก่ความตาย โดยเจตนาฆ่าให้ตายโดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย เพราะมีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องแย่งที่ดินกันทำกิน เหตุเกิดที่ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพจึงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 250 และริบปืนกับกระสุนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา ต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ ที่จำเลยต้องรับสารภาพชั้นสอบสวน เพราะถูกเจ้าพนักงานขู่เข็ญทำร้าย หาใช่ด้วยความสมัครใจไม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าหลักฐานพยานโจทก์ไม่เพียงพอฟังลงโทษจำเลยได้ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลักฐาน พยานโจทก์เพียงพอฟังลงโทษจำเลยได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250 คำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามาก ควรลดโทษปรานีตามมาตรา 59 ให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 37 พิพากษากลับศาลชั้นต้นให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยตามมาตรา 250 ลดตามมาตรา 59 และ 37 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 12 ปี ปืนและลูกปืนของกลางริบ
จำเลยฎีกาต่อมาศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วได้ความว่า ในคืนวันโจทก์หาเวลาราว 19 น.เศษ นายชื่น ศิริประสพผู้ตายซึ่งเป็นพี่ภริยาจำเลย นั่งกินข้าวอยู่ที่ครัวภายในโรงฝากั้นด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ ได้มีผู้ร้ายลอบยิงจากฝาขัดแตะด้านหลังโรง 1 นัดกระสุนปืนถูกนายชื่นที่เหนือเข่าขวา 9 รู และที่ราวนมข้างขวา 5 รู กระสุนปืนไปตุงอยู่ที่ราวนมข้างขวา 4 แห่ง กับมีแผลที่ใต้เข่าซ้าย 3 แห่ง ทะลุ 1 แห่ง อีก 2 แห่งไม่ทะลุ นายชื่นขาดใจตายทันทีขณะเกิดเหตุไม่มีพยานโจทก์เห็นว่าใครเป็นคนยิงผู้ตาย
โจทก์คงมีพยานบุคคลเป็นพยานแวดล้อมประกอบ 2 ปาก คือนายอั๊ดเสี้ยมสอน และนายยศ โรจน์พวง ว่าเมื่อเกิดเหตุเสียงปืนดังทางบ้านผู้ตายแล้วนายอั๊ดและนายยศต่างคนว่า ได้พบจำเลยเดินทางมาไม่สู้ไกลบ้านผู้ตายนักโดยใช้ไฟฉายส่องไปเห็น นายอั๊ดเห็นจำเลยถือปืนสั้นมาด้วย ได้ทักถามกัน ส่วนนายยศว่าเห็นจำเลยถืออะไรมายาวสักคืบหนึ่งรุ่งขึ้นคนทั้งสองนี้ได้เล่าให้นายหลีเซ็นฟัง เพราะนายหลีเซ็นสอบถามขึ้น นอกนั้นไม่ได้บอกใครอีก
นอกจากนั้นโจทก์มีพยานเป็นเจ้าพนักงาน คือจ่านายสิบตำรวจสุนทร เชาว์ดี หัวหน้าสถานีตำรวจลูกแก ซึ่งทราบจากนายหลีเซ็นว่านายอั๊ด นายยศเป็นผู้รู้เห็นจึงติดต่อให้นายวัง ชูวงษ์ นายอำเภอ ท้องที่ทราบ เจ้าพนักงานจึงไปจับตัวจำเลยได้ในตอนเย็นวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุเพื่อทำการสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าเป็นผู้ยิงผู้ตายตายจริง เนื่องจากมีสาเหตุกันเรื่องแบ่งปันที่ดิน และจำเลยถูกคนลอบยิงก่อนเกิดเหตุ จำเลยหาว่าผู้ตายมาลอบยิงทั้งจำเลยนำชี้ฐานที่เกิดเหตุที่ที่เข้าไปลอบยิง และที่ซ่อนปืนพกลูกซองในกอสับปะรดหลังบ้านจำเลย ที่ที่ซ่อนกระสุนปืนเจ้าพนักงานได้ถ่ายภาพไว้ตลอดจนที่ตำรวจสันติบาลมาทำการจำลองรอยเท้าของคนร้ายพิสูจน์กับรอยเท้าของจำเลยด้วยว่า รอยเท้าคนร้ายมีขนาดคล้ายคลึงกับรอยเท้าของจำเลย โจทก์อ้างคำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนลงวันที่ 19 กันยายน 2493 และเอกสารบันทึกการชี้ตัวจำเลย บันทึกการที่จำเลยนำชี้สถานที่ ตลอดจนการถ่ายรูป โดยมีนายวัง ชูวงษ์นายอำเภอและนายละม้าย ประชาสี สรรพสามิตจังหวัดเป็นพยานประกอบคำรับของจำเลยชั้นสอบสวน และมีนายโค่ง ประสงค์เวช กำนันเป็นพยานประกอบคำนางไผ่ ภริยาผู้ตายในข้อสาเหตุว่าจำเลยกับผู้ตายไม่ถูกกันเรื่องที่ดินเพราะมารดาผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินซึ่งผู้ตายกับภริยาจำเลยช่วยกันออกเงินใช้หนี้ให้แก่ภริยาจำเลยซึ่งเป็นน้องสาวผู้ตายเสียแต่คนเดียว แต่ต่อมาภริยาจำเลยยอมแบ่งที่ให้ผู้ตาย เป็นแต่ไม่ตกลงกันเมื่อตอนนายโค่งไปวัดที่ดินแบ่งให้เพราะผู้ตายจะเอาให้มากไปอีก 1 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ ทั้งก่อนเกิดเหตุราว20 วัน จำเลยมาแจ้งว่าถูกคนลอบยิงแต่มิได้ระบุว่าใครยิง อนึ่งนายหลีเซ็นผู้ที่พยานโจทก์อ้างอิงว่า นายอั๊ด นายยศพยานโจทก์เล่าเรื่องที่รู้เห็นให้ฟังนั้น ฝ่ายโจทก์มิได้อ้างมาเป็นพยาน
ฝ่ายจำเลยกลับอ้างนายหลีเซ็น หรือนายประสพเป็นพยานจำเลยในข้อที่ได้รับคำบอกเล่าจากพยานโจทก์ 2 คนนั้น ตามข้อนำสืบของจำเลยเป็นใจความว่านายจั๊วะพี่ชายคนโตของนางสมนึกภริยาจำเลยไม่พอใจในการที่จำเลยได้นางสมนึกเป็นภริยา เพราะต่างศาสนากันนายจั๊วะมีความอาฆาตที่จะให้จำเลยได้รับโทษในคดีนี้ ในคืนเกิดเหตุจำเลยไปอยู่ที่บ้านเรือนนางไข่พี่สาวภริยาจำเลย ห่างบ้านผู้ตายทางเดินราวหนึ่งหม้อข้าวสุก จนเวลา 21 น. จำเลยจึงได้กลับบ้านที่จำเลยต้องรับสารภาพชั้นสอบสวน เพราะทนความทารุณของเจ้าพนักงานไม่ได้
ศาลฎีกาได้พิจารณาคำพยานทั้งสองฝ่ายตลอดแล้ว เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา มิได้ให้การรับสารภาพตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้สมฟ้อง จึงจะลงโทษจำเลยได้ ในคดีนี้ปัญหาข้อเท็จจริงอยู่ที่ว่าเท่าที่โจทก์มีพยานหลักฐานนำสืบมาเพียงพอ ให้เชื่อได้หรือไม่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดดังฟ้อง ประจักษ์พยานโจทก์ที่รู้เห็นขณะผู้ตายถูกยิงไม่มีเลย จ่านายสิบตำรวจสุนทรพยานโจทก์ซึ่งเป็นต้นเหตุที่จะได้ตัวนายอั๊ด นายยศเป็นพยานว่า ได้ทราบเรื่องว่าคนทั้งสองนี้รู้เห็นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุ โดยนายหลีเซ็นบอก แต่ตามคำนายอั๊ด นายยศพยาน โจทก์กับคำนายหลีเซ็น หรือประสพพยานจำเลยเบิกความแตกต่างหักล้างขัดกันอยู่ในตัวเช่นว่านายอั๊ดนายยศได้กระซิบเล่าให้ฟังขึ้นเอง หรือเพราะถูกถามความที่เล่าเพียงสั้น ๆ ตามคำนายหลีเซ็นหรือประสพว่า คนทั้งสองนี้เห็นจำเลยวิ่งผ่านไปในคืนเกิดเหตุเท่านั้น หรือเล่าถึงเหตุที่คนทั้งสองไปพบเห็นจำเลยโดยอาศัยแสงอะไร จำเลยถืออะไรหรือไม่ พบจำเลยที่ตรงไหนตามคำเบิกความของคนทั้งสองเบิกความมาหรือไม่ คำของพยาน 3 คนนี้ขัดกันหมด ตลอดจนสถานที่ที่บอกเล่าและเวลาที่บอกเล่ากันก็แตกต่างขัดกัน เพราะนายหลีเซ็นหรือประสพว่าคนทั้งสองกระซิบบอกความให้ทราบในเวลาราว 10 น. หรือ 10 น.เศษ ที่บ้านผู้ตายทีละคนแต่นายอั๊ดว่าบอกนายหลีเซ็นที่บ้านนายหยูตอนเช้า 9 น. ส่วนนายยศว่าบอกนายหลีเซ็นที่บ้านนายผึ่งเวลาเกือบ 5 โมงเย็นเช่นนี้นายหลีเซ็นจะเอาเรื่องที่นายยศรู้เห็นเล่าให้จ่านายสิบตำรวจสุนทรทราบในตอนเช้าวันเดียวกันได้อย่างไร จึงทำให้ไม่น่าเชื่อคำของนายอั๊ด นายยศพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นผู้พิจารณาก็ไม่เลื่อมใสไม่รับฟังคำนายอั๊ด นายยศพยานโจทก์นี้มาแล้ว เมื่อพยานประกอบแวดล้อมของโจทก์รับฟังไม่ได้แล้ว โจทก์คงมีแต่พยานในข้อว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนดังพยานได้สอบสวนไว้เท่านั้น ทั้งคำรับสารภาพชั้นสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พบปะกันนายอั๊ด นายยศพยานโจทก์ 2 คนภายหลังเกิดเหตุดังคำพยานโจทก์อย่างใดเลย ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธโจทก์นำสืบเพียงว่าในชั้นสอบสวนจำเลยรับสารภาพต่อพยานดังที่ได้สอบสวนจดบันทึกไว้เช่นนี้ ถือว่าเป็นแต่ส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเท่านั้น มิใช่เป็นหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพยานหลักฐานประกอบตามมาตรา 176 จะต้องไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพนั้นเอง ดังมีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 901/2482 คดีระหว่างอัยการธัญญบุรี โจทก์ นายแถม วงษ์อารี จำเลย เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว พยานหลักฐานโจทก์ในคดีนี้จึงยังไม่เพียงพอจะรับฟังมาลงโทษจำเลยดังโจทก์หาได้ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น