แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย โดยมีสำนักงานอยู่ที่อาคารเลขที่ 2160แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และใช้อาคารเลขที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานประกอบพาณิชยกิจตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การที่จำเลยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของโจทก์ตามอาคารเลขที่ดังที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบแล้ว
โจทก์เป็นบริษัทในเครือของบริษัท อ. แต่โจทก์ยังมีพนักงานไม่ครบสมบูรณ์ บริษัทแม่ในประเทศอังกฤษจึงมอบหมายให้บริษัท อ. เป็นผู้ดูแล การที่โจทก์ใช้พนักงานของบริษัท อ. มาโดยตลอดในการปฏิบัติงานจนเป็นปกติ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้หรือยอมรับเอาพนักงานของบริษัท อ. เป็นผู้ดำเนินงานเสมือนหนึ่งว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นพนักงานของโจทก์เอง ฉะนั้นการที่พนักงานไปรษณีย์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ที่อาคารเลขที่ 2160 ดังกล่าว โดยมี ค. พนักงานของบริษัท อ. เป็นผู้รับเอกสารดังกล่าวไว้แทนจึงถือได้ว่าเป็นการส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของโจทก์แล้ว จึงเป็นการส่งโดยชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 121,919.22 บาทและจำนวน 3,753 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากเห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจำนวนใด ๆ ก็ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่ม เบี้ยปรับแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 เกินกำหนดระยะเวลา 30 วัน ตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องการประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า “คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้ทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์” โดยมีมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า “หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของบุคคลนั้นในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้” และตามวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว” โจทก์อุทธรณ์ว่า นายคมศักดิ์ไม่ใช่พนักงานของโจทก์แต่เป็นพนักงานของบริษัทอินช์เคปไทย จำกัด โจทก์เพิ่งได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่จำเลยส่งไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 เห็นว่า โจทก์ประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย โดยมีสำนักงานอยู่ที่อาคารเลขที่ 2160 ถนนรามคำแหงแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และใช้อาคารเลขที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานประกอบพาณิชยกิจตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการที่จำเลยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของโจทก์ตามอาคารเลขที่ดังที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการส่งโดยชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่านายคมศักดิ์ไม่ใช่พนักงานของโจทก์นั้น นายวิษณุ ศิริพัฒนสารกิจ และนางสุวิมล สวัสดิ์พาณิชย์ พยานโจทก์ต่างก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นบริษัทในเครือบริษัทอินช์เคปไทย จำกัด มีบริษัทอินช์เคปไทย จำกัด แห่งประเทศอังกฤษเป็นบริษัทแม่ แต่โจทก์ยังมีพนักงานไม่ครบสมบูรณ์บริษัทอินช์เคปไทย จำกัด แห่งประเทศอังกฤษจึงมอบหมายให้บริษัทอินช์เคปไทย จำกัดเป็นผู้ดูแล โจทก์โดยนายวิษณุซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชีของบริษัทอินช์เคปไทย จำกัดเป็นผู้ดูแลงานด้านบัญชีของโจทก์ ส่วนนางสุวิมลซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของบริษัทอินช์เคปไทย จำกัด เป็นผู้ดูแลงานด้านกฎหมายและภาษีอากรของโจทก์ นายคมศักดิ์ซึ่งเป็นผู้รับเอกสารไว้จากพนักงานไปรษณีย์เบิกความว่า พยานทำงานอยู่ที่บริษัทอินช์เคปไทย จำกัด มีหน้าที่รับส่งเอกสารทั้งภายในและภายนอกบริษัท บริษัทอินช์เคปไทย จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 2160 ถนนรามคำแหง แขวงคลองจั่น(ที่ถูกแขวงหัวหมาก) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร บริษัทในเครือของบริษัทอินช์เคปไทยจำกัด ตั้งอยู่ในอาคารเดียวกัน พยานรับจดหมายและพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์ใน 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเช้าตั้งแต่ 9 ถึง 10 นาฬิกา และช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 16 นาฬิกา ภายหลังจากได้รับพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์แล้วจะคัดเลือกพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์ของบริษัทต่าง ๆ แล้วนำไปส่งไว้ในช่องบรรจุเอกสารของบริษัทต่าง ๆ และลงรายการไว้ในสมุดบันทึก จากนั้นบริษัทต่าง ๆ ในเครือบริษัทอินช์เคปไทย จำกัด จะมารับเอกสารต่าง ๆ เหล่านั้น นอกจากนี้จำเลยก็นำสืบว่าก่อนหน้านี้จำเลยเคยส่งเอกสารต่าง ๆ ให้แก่บริษัทในเครือของโจทก์มาหลายครั้ง พนักงานผู้ลงชื่อรับเอกสารเป็นประจำก็เป็นบุคคลคนเดียวกันทั้งหมดมิได้แยกพนักงานผู้รับของแต่ละบริษัท เมื่อพฤติการณ์ในการปฏิบัติงานของโจทก์เป็นดังที่โจทก์นำสืบโดยโจทก์ใช้พนักงานของบริษัทอินช์เคปไทย จำกัด มาโดยตลอดในการปฏิบัติงานจนเป็นปกติ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้หรือยอมรับเอาพนักงานของบริษัทอินช์เคปไทย จำกัดเป็นผู้ดำเนินงานเสมือนหนึ่งว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นพนักงานของโจทก์เอง ฉะนั้นการที่พนักงานไปรษณีย์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ที่อาคารเลขที่ 2160 ถนนรามคำแหงแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายคมศักดิ์เป็นผู้รับเอกสารดังกล่าวไว้แทนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 จึงถือได้ว่าเป็นการส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของโจทก์แล้ว จึงเป็นการส่งโดยชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 เมื่อโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขัดต่อมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน