คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4799/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่เมื่อโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดทั้งเหตุแห่งการเลิกจ้างก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นนโยบายของจำเลยที่จะลดค่าใช้จ่ายเท่านั้นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดโดยอ้างเหตุดังกล่าวแม้จำเลยจะได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ก็เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2536 ขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และเกิดกรณีพิพาทขึ้นจนเป็นมูลเหตุให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะทำสัญญาจ้างได้ถูกยกเลิกและใช้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) บังคับแทนแล้ว จึงต้องนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ที่ใช้บังคับ อยู่ขณะเลิกจ้างมาบังคับใช้แก่คดีนี้เพื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ มีสิทธิได้ค่าชดเชยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการควบคุมเครื่องจักร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 105,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสุดท้ายของเดือน วันที่ 31 มีนาคม 2540 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดค่าเสียหาย 600,000 บาทค่าชดเชย 180 วัน เป็นเงิน 630,000 บาท และจำเลยมีสัญญากับโจทก์ว่าแต่ละปีโจทก์จะได้รับเงินบำเหน็จพิเศษเท่ากับอัตราเงินเดือน 1 เดือน ปี 2539 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จพิเศษจำนวน 105,000 บาท ในช่วง 2 ปีแรกจำเลยจะให้โจทก์ลาพักผ่อนประจำปีได้ 2 สัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้าง และเพิ่มเป็น4 สัปดาห์ โดยเริ่มนับจากปีที่ 3 นับแต่โจทก์เข้าทำงานจนถูกเลิกจ้างจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาพักผ่อนประจำปีรวมทั้งหมดเป็นเวลา 4 เดือนจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์420,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษ 105,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 420,000 บาท ค่าเสียหายจำนวน 600,000 บาทและค่าชดเชยจำนวน 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในโครงการก่อสร้างโรงงานเยื่อกระดาษและกระดาษ โดยทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอน 5 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่31 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา หลังเลิกจ้างโจทก์ขอทำงานต่อโดยยินยอมให้ลดเงินเดือนลงเดือนละ 50,000 บาทจำเลยไม่ตกลง โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามสัญญาเป็นเวลา 4 เดือน จำเลยตกลงโดยผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือนนับแต่วันครบกำหนดการจ้างตามสัญญาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 อันเป็นงวดสุดท้ายจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการในสัญญาจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้ายแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ข้อ 7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญาจ้างและจะนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังหาได้ไม่ ส่วนเงินบำเหน็จพิเศษและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการควบคุมเครื่องจักร มีกำหนด 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2539 อัตราค่าจ้างเดือนละ 105,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสุดท้ายของเดือน หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อโดยให้อัตราค่าจ้างเท่าเดิมและเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาการจ้างต่อมาจึงเป็นการจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด การเลิกจ้างย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ค่าชดเชย เงินบำเหน็จพิเศษและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษ (โบนัส) ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าเสียหาย และค่าชดเชยรวม 1,255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าหลังจากครบกำหนดสัญญาจ้าง 5 ปี คือนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2539 แล้ว จำเลยยังคงจ้างโจทก์ทำงานต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งจำเลยจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง และจำเลยบอกเลิกการจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วแม้โจทก์ไม่มีความผิดก็ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดทั้งเหตุแห่งการเลิกจ้างตามหนังสือเอกสารหมาย ล.3 ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นนโยบายของจำเลยที่จะลดค่าใช้จ่ายเท่านั้นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดโดยอ้างเหตุดังกล่าวแม้จำเลยจะได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้วก็ไม่ทำให้การเลิกจ้างไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงมีผลให้จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หามีผลให้ต้องนำไปวินิจฉัยว่ามีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ชอบแล้ว
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จะนำประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) มาใช้บังคับย้อนหลังแก่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งทำขึ้นก่อนกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2536 ขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และเกิดกรณีพิพาทขึ้นจนเป็นมูลเหตุให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะทำสัญญาจ้างได้ถูกยกเลิกและใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) บังคับแทนแล้ว จึงต้องนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14)ที่ใช้บังคับอยู่ขณะเลิกจ้างมาบังคับใช้แก่คดีนี้เพื่อวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยหรือไม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share