คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาจะมีน้ำหนักน่ารับฟัง หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ต้องพิเคราะห์รายละเอียดเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อประกอบศาลจึงอาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏเกี่ยวข้องกับคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นสอบสวนมาเปรียบเทียบได้หาได้ถูกจำกัดให้รับฟังได้แต่เฉพาะคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา ในขณะเดียวกันคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนจะมีน้ำหนักน่ารับฟังมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ปรากฏ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ของนางหนูพริ้ง ศรสังข์ผู้เสียหาย โดยใช้ปืนพลาสติกทิ่มและตีที่บริเวณใบหน้าผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339ริบเศษปืนพลาสติกของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 39,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางหนูพริ้ง ศรสังข์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม จำคุก 15 ปี ริบของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 39,400 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและเด็กชายกิตติศักดิ์ สังข์สกุล เบิกความเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ คำเบิกความของพยานโจทก์ข้างต้นจะมีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงหรือไม่มิได้อยู่ที่พยานโจทก์เบิกความระบุถึงตัวคนร้ายเพียงลำพังอย่างเดียวแล้วจะต้องเชื่อตามคำบอกเล่าของพยานโจทก์เสมอไปไม่ แต่จะต้องพิเคราะห์รายละเอียดเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นข้อประกอบดุลพินิจในการรับฟังคำพยานว่ามีน้ำหนักรับฟังได้มากน้อยอย่างใดด้วยศาลจึงอาจหยิบยกข้อเท็จจริงที่ปรากฏเกี่ยวข้องกันในชั้นสอบสวนมาเปรียบเทียบประกอบคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาได้คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์จะมีน้ำหนักรับฟังได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ปรากฏ มิใช่จะต้องรับฟังแต่คำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาอย่างเดียวดังอ้างเท่านั้นเมื่อโจทก์ส่งอ้างบันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวนต่อศาลบันทึกคำให้การพยานดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่จะต้องนำมาประกอบดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ด้วย ข้ออ้างว่าบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจัดทำโดยลำพังพนักงานสอบสวนแต่ผู้เดียวและการใช้คำถาม ไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจได้คำตอบตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทุกอย่าง และไม่อาจถือว่าข้อเท็จจริงใดที่ไม่มีในสำนวนการสอบสวนแล้วจะถือว่าไม่มีข้อเท็จจริงนั้นเกิดขึ้นไม่ได้นั้นขาดเหตุผล เพราะในพฤติการณ์อันเดียวกัน หากเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญแล้วย่อมจะต้องมีปรากฏระบุไว้ การละเลยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญจึงเป็นข้อควรพิรุธเป็นอย่างยิ่ง และมีผลทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณามีน้ำหนักรับฟังได้น้อยลงหรือไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง โจทก์ร่วมเบิกความว่าขณะต่อสู้ขัดขืนคนร้ายได้ดึงหมวกไหมพรมที่คนร้ายใส่ปกปิดหน้าตาออกและเห็นหน้าคนร้ายคือ จำเลยซึ่งเป็นหลานของโจทก์ร่วม จำเลยสวมหมวกไหมพรมกลับคืนอย่างเก่า ระหว่างจำเลยหยิบทรัพย์สินในตู้เด็กชายกิตติศักดิ์ ลงมาจากชั้นบนของบ้านและร้องห้ามว่าน้ารุณ (ชื่อจำเลย) อย่า อย่า และ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในชั้นสอบสวนไม่ได้ให้การต่อตำรวจว่าเปิดหมวกไหมพรมเห็นหน้าจำเลยเพราะปวดหน้าอก พูดมากไม่ได้ และเบิกความว่าจำเสียงของจำเลยและท่าทางการเดินได้เด็กชายกิตติศักดิ์เบิกความว่า รู้สึกตัวตื่นเมื่อได้ยินเสียงคนต่อสู้กันและเสียงโจทก์ร่วมร้องขอความช่วยเหลือ จึงวิ่งลงบันไดมาชั้นล่างเห็นชายคนหนึ่งสวมหมวกไหมพรมกำลังจับคอโจทก์ร่วมและตีเข่าจนโจทก์ร่วมทรุดนั่งลงกับพื้น พยานจำลักษณะหลังค่อมและคิ้วได้ว่าเป็นจำเลยซึ่งรู้จักมาก่อน จึงร้องห้ามว่า น้ารุณ (จำเลย)อย่าทำ โจทก์ร่วม แล้วจำเลยคว้าถุงเงินในตู้วิ่งออกจากบ้านทางหน้าต่าง และเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่า จำเสียงและลักษณะของจำเลยได้ เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่อ้างว่าได้เปิดหมวกไหมพรมคนร้ายออกและเห็นหน้าว่าคือจำเลย เป็นข้อความที่เป็นสาระสำคัญระบุยืนยันตัวคนร้ายว่าโจทก์ร่วมเห็นหน้าคนร้ายโดยวิธีใด อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมจดจำคนร้ายได้ไม่ผิดคนโดยเหตุผลจึงควรที่โจทก์ร่วมจะต้องบอกเล่าให้พนักงานสอบสวนได้รับรู้ความจริงไว้โดยเฉพาะการสอบสวนดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้นทันทีภายหลังเกิดเหตุ โจทก์ร่วมยังไม่มีเวลาและโอกาสที่จะคิดแต่งเติมเสริมเหตุการณ์เป็นอย่างอื่นเพื่อให้เกิดผลร้ายแก่จำเลย ข้ออ้างว่าไม่ได้บอกเล่าเพราะเจ็บหน้าอกพูดมากไม่ได้ขาดเหตุผลที่จะรับฟัง ในเมื่อโจทก์ร่วมได้ให้ถ้อยคำบอกเล่าเหตุการณ์อื่น ๆ อย่างละเอียดมาโดยตลอดแล้ว โจทก์ร่วมยืนยันว่าจำเลยปิดหมวกไหมพรมคลุมหน้าอย่างเดิม แต่กลับเบิกความว่าเด็กชายกิตติศักดิ์ ร้องห้ามระบุชื่อจำเลยทันทีที่วิ่งลงมาจากชั้นบนของบ้านทั้งที่เด็กชายกิตติศักดิ์ไม่ได้มีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายเพราะมีหมวกไหมพรมคลุมอยู่ดังกล่าว และเด็กชายกิตติศักดิ์ เพิ่งจะลงมาเห็นเหตุการณ์เพียงชั่วระยะเวลานิดเดียวคนร้ายก็หลบหนีไป คำเบิกความของเด็กชายกิตติศักดิ์ที่ว่าร้องห้ามโดยระบุชื่อจำเลยทันทีที่ลงมาจึงขาดเหตุผลน่าเชื่อถือและที่โจทก์ร่วมและเด็กชายกิตติศักดิ์เบิกความว่า จำเสียงและลักษณะของจำเลยได้ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีลักษณะน้ำเสียงผิดแปลกจากปกติธรรมดาทั่วไปอย่างใดบ้าง และน้ำเสียงคำพูดของคนนั้นอาจจะเหมือนหรือคล้ายกันได้หากไม่ตั้งใจฟัง ยิ่งในสภาพและภาวะดังที่โจทก์ร่วมกำลังเผชิญอยู่ดังกล่าวเชื่อว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ตั้งใจสังเกตฟังน้ำเสียงคำพูดของคนร้ายไว้ และจากคำเบิกความของเด็กชายกิตติศักดิ์ ตั้งแต่พบเห็นเหตุการณ์จนคนร้ายหลบหนี้ไปก็ไม่ปรากฏว่าคนร้ายได้พูดจาให้เด็กชายกิตติศักดิ์ได้ยินน้ำเสียงของคนร้ายเลย ในส่วนลักษณะรูปร่างของจำเลยก็ไม่ได้มีการนำสืบไว้ให้ปรากฏเห็นว่าจำเลยมีลักษณะพิเศษเป็นที่สังเกตจดจำได้ง่ายเมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานประกอบให้รับฟังยืนยันให้แน่ใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ และจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยโดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยอีกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share