คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4799/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า พ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับ ท. ครั้น พ. ถึงแก่กรรม ท. ได้อาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เรียกร้องให้จำเลยที่ 5 ทายาทของ พ. ไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่ตน แต่เมื่อจำเลยที่ 5ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนให้ ท. ก็หาได้ใช้สิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 โอนให้ไม่ ท. จึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ พ. จนกว่าจะได้จดทะเบียนโอน สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทยังเป็นของทายาทของ พ. ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 5 อยู่ท. ไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่ ว. ว. จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ ว. โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ทำให้โจทก์ผู้รับโอนมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่า ว. ผู้โอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ดังโจทก์ฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕,๓๕๘, ๓๖๒, ๓๖๕, ๘๓, ๙๑ และนับโทษจำเลยที่ ๒ กับที่ ๕ ต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้นด้วย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕, ๓๓๕ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ลงโทษตามมาตรา๓๓๕ จำคุกจำเลยทั้งหกมีกำหนดคนละ ๑ ปี แต่เนื่องจากจำเลยที่ ๓ เป็นนักศึกษา โทษจำคุกจึงให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ที่ ๕ ต่อจากคดีอาญา
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า เดิมนายพวงสามีจำเลยที่ ๕เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๑๗๙ ตำบลยะวิก อำเภอชุมพลบุรีจังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ ๔๐ ไร่ อาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินนายบรรจบบรรณประสิทธิ์ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดหัวโค้งแม่น้ำมูล ทิศตะวันออกจดที่ดินที่ดินนายเกษม ต่อมานายพวงแบ่งขายที่ดินด้านทิศใต้ให้แก่นายเทพ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเนื้อที่ ๘ ไร่ ๓ งาน ตาม น.ส.๓ เลขที่๒๐๕/๑๗๙ ครั้งที่สองเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ตาม น.ส.๓ เลขที่ ๒๐๖/๑๗๔ ส่วนที่ดินที่เหลือ ๑๖ ไร่ ๑ งาน นายพวงทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับนายเทพอีกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ แต่นายพวงได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน จดทะเบียนโอนให้แก่นายเทพ ต่อมานายเทพได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๕ และบริวารออกจากที่ดินที่เหลือดังกล่าว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ที่ดินส่วนที่เหลือ ๑๖ ไร่ ๑ งาน ที่นายเทพเคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๕ และบริวารดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เกิดเหตุ ในคดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติต่อไปว่า ที่ดินส่วน ที่เหลือ ๑๖ ไร่๑ งาน ที่ นายเทพเคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๕ กับบริวารเป็นแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งต่อมา ศาลฎีกาได้พิพากษาในคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๖๗/๒๕๒๘ ให้ ยกฟ้อง คดีถึง ที่สุด โดยวินิจฉัยว่า เมื่อนายพวงถึงแก่กรรม นายเทพได้อาศัยสิทธิ เรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายเรียกร้องให้จำเลยที่ ๕ ไปจดทะเบียน โอนสิทธิครอบครองในที่ดินที่เหลือดังกล่าวให้แก่ตน แต่เมื่อจำเลย ที่ ๕ ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนให้ นายเทพก็หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๕ ในฐานะทายาทของนายพวงโอนสิทธิครอบครองใน ที่ดินให้แต่อย่างใดไม่ นายเทพจึง เป็น เพียงผู้ครอบครองที่ดิน ดังกล่าวแทนทายาทของนายพวงจนกว่าครองใน ที่ดิน จึงยังเป็นของทายาท ของนายพวงซึ่งรวมถึงจำเลยที่ ๕ อยู่ คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว มีผลผูกพันนายเทพกับจำเลยที่ ๕ ในฐานะคู่ความ แสดงว่าที่ดินที่เกิดเหตุในคดีนี้ยังเป็นของจำเลยที่ ๕ และทายาทอื่นของนายพวง หาใช่ เป็นของนายเทพไม่ โจทก์อ้างว่านายเทพได้ยกที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่ ร้อยตำรวจเอกวีรากร จึงเป็นการยกให้โดยไม่มีสิทธิ ร้อยตำรวจเอกวีรากร หามีสิทธิในที่ดินที่เกิดเหตุไม่ การที่ร้อยตำรวจเอกวีรากร โอนขายต่อให้แก่โจทก์ ย่อมไม่ทำให้โจทก์ผู้รับโอนมีสิทธิในที่ดิน ที่เกิดเหตุดีกว่าร้อยตำรวจเอกวีรากร ผู้โอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิ ครอบครองในที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหก จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน.

Share