แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนของ ข. โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ดำเนินการทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยไม่ปรากฏชื่อโจทก์อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 264, 265, 266, 268, 352, 353, 354 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42, 46
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องไว้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ฯ มาตรา 42 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 3 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และคดีสำหรับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ โดยจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อที่ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนของนายขวัญชัย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ดังนี้ เมื่อโจทก์ถือหุ้นแทนนายขวัญชัย โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ดำเนินการทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยไม่ปรากฏชื่อโจทก์อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีก เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์