คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาและระงับการดำเนินการตามหมายจับไว้ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับตามอำนาจหน้าที่และพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายจับและระงับการดำเนินการตามหมายจับ ยกคำร้อง
ผู้ต้องหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องและเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเดิมผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ต่อมาผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ต้องหา ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหา ผู้ร้องฎีกา
ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอน ถอนหมายจับผู้ต้องหานั้น ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อขอให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติว่า “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
(2) ………..ฯลฯ…………..”
สำหรับอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับนั้น จะต้องปรากฏเหตุตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ซึ่งบัญญัติว่า “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี…” และตามมาตรา 59/1 บัญญัติต่อไปว่า “ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา 66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71…”
จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เพื่อให้การสอบสวนผู้ต้องหาดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยไม่มีปัญหาติดขัด ล่าช้าหรือมีอุปสรรคในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โดยที่ขณะนั้นยังไม่เป็นการฟ้องคดีมาสู่การพิจารณาของศาล แต่เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 เพราะจะทำให้การดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมประสบอุปสรรคและเกิดความล่าช้า ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติเป็นใจความว่า “ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับได้ตามมาตรา 59/1 และมีคำสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว…” และตามวรรคสี่ ตอนท้าย บัญญัติว่า “…หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้ ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้” โดยบทบัญญัติของมาตรานี้ก็ได้ระบุวิธีการให้ศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจับมีอำนาจโดยตรงในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากการออกหมายจับผู้ต้องหาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ทั้งมิได้ระบุให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นการขอออกหมายจับ การขอเพิกถอนหมายจับตลอดจนการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 ยังได้บัญญัติว่า “หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน” ดังนั้น หากผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว หมายจับก็ย่อมสิ้นผลไปในตัว หรือหากคดีขาดอายุความ หรือศาลชั้นต้นซึ่งออกหมายจับนั้น ได้ถอนหมายจับคืนเสียแล้ว หมายจับก็ย่อมสิ้นผลเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยประกอบกันมาผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้ต้องหา เป็นการสั่งรับอุทธรณ์โดยไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหาเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ต้องหาและยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share