คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทผู้ขายเป็นเงินที่โจทก์ให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการที่บริษัทผู้ขายผ่อนปรนการชำระราคาสินค้าที่โจทก์จะต้องชำระออกไปเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยบริษัทผู้ขายคิดเป็นอัตราร้อยละ 10.8 ต่อปี เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 40(4)(ก) บัญญัติไว้ แม้ว่าเงินได้ดังกล่าวบางส่วนบริษัทผู้ขายมีสิทธิที่จะได้รับจากโจทก์ก่อนที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแต่เงินจำนวนทั้งหมดโจทก์ก็ได้โอนจ่ายจากประเทศไทยให้แก่บริษัทผู้ขายที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2535 และวันที่ 24 เมษายน 2535 อันเป็นเวลาภายหลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก) มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 7พฤศจิกายน 2534 จึงมิใช่เป็นการนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับย้อนหลังแก่โจทก์โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 70กำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีขอให้งดหรือลดเงินเพิ่ม

จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์สั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากบริษัทกาตาร์เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20สิงหาคม 2534 ในราคา 2,102,275 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 53,629,035.25บาท โดยบริษัทผู้ขายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 10.8 ต่อปี สำหรับระยะเวลา180 วัน ในการชำระราคา เป็นดอกเบี้ย 113,522.85 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย2,895,967.90 บาท ปรากฏตามใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 และ 17โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทผู้ขายเป็นราคาสินค้าและดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลา 180 วันไปรษณีย์และอากร ค่าธรรมเนียมการโอน รวมเป็นเงิน 2,215,397.85 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทย 56,666,377.66 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2534 โจทก์สั่งซื้อปุ๋ยเคมีจากบริษัทผู้ขายดังกล่าวในราคา 2,315,250 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย59,538,230 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10.8 ต่อปี สำหรับระยะเวลา 180 วัน ในการชำระราคา เป็นดอกเบี้ย 125,023.50 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 3,215,604.42บาท ปรากฏตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 14 และ 15 โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทผู้ขายเป็นราคาสินค้าและดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลา 180 วัน ไปรษณีย์และอากรค่าธรรมเนียมการโอน รวมเป็นเงิน 2,440,273.50 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย62,920,806.01 บาท รวมเฉพาะที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทผู้ขาย สำหรับระยะเวลา 180วัน ในการชำระราคาทั้งสองครั้งเป็นเงิน 6,111,572.32 บาท โดยชำระเมื่อวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2535 และวันที่ 24 เมษายน 2535 ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2538เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 1,466,058.26 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกมีว่าเงินที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทผู้ขายที่เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากการชำระราคาสินค้าสำหรับระยะเวลา 180 วัน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นประโยชน์หรือค่าตอบแทนในการผ่อนปรนการชำระราคาสินค้าออกไป 180วัน มิใช่ดอกเบี้ยหรือเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย จึงมิใช่เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) ทั้งบทบัญญัติมาตรานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534ดังนั้นจะนำมาใช้บังคับย้อนหลังแก่โจทก์ไม่ได้ ข้อนี้เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก) ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 บัญญัติว่า”เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ว่าในทอดใด (1)…ฯลฯ(4) เงินได้ที่เป็น (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม” จะเห็นได้ว่าเงินที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทผู้ขายเป็นเงินที่โจทก์ให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการที่บริษัทผู้ขายดังกล่าวผ่อนปรนการชำระราคาสินค้าที่โจทก์จะต้องชำระออกไปเป็นระยะเวลา 180 วันโดยบริษัทผู้ขายคิดเป็นอัตราร้อยละ 10.8 ต่อปี เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก) ซึ่งแก้ไขแล้วบัญญัติไว้แม้ว่าเงินได้ดังกล่าวบางส่วนบริษัทผู้ขายมีสิทธิที่จะได้รับจากโจทก์ก่อนที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ แต่เงินจำนวนทั้งหมดโจทก์ก็ได้โอนจ่ายจากประเทศไทยให้แก่บริษัทผู้ขายที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 และวันที่ 24 เมษายน 2535 อันเป็นเวลาภายหลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก) มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 จึงมิใช่เป็นการนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับย้อนหลังแก่โจทก์ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องหักเงินได้พึงประเมินณ ที่จ่าย และนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเงินได้จากการที่บริษัทผู้ขายผ่อนปรนการชำระราคาสินค้าออกไปเป็นระยะเวลา 180 วันเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ก) และโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้ขายที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 กำหนดศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share