แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ อันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนราชการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเป็นเรื่องที่โต้เถียงแย่งความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นหลัก ส่วนคำขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์เป็นผลอันสืบเนื่อง จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคแรก เมื่อที่ดินพิพาทราคา 100,000 บาทเศษ จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องโอนคดีไปให้ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิจารณาพิพากษาต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6925 และ 6926 ที่ดินทั้งสองแปลงมีเขตติดต่อด้านทิศเหนือของที่ดินทั้งสองแปลงได้แบ่งขายให้แก่กรมชลประทานจำเลยที่ 2 และได้มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินไปแล้วโดยลงหลักเขตที่ดินไว้ 5 หลัก ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตัวแทนจำเลยที่ 1 มาระวังแนวเขตที่ดินแต่ไม่ลงนามและได้คัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์โดยแจ้งว่าที่ดินของโจทก์รุกล้ำเขตชลประทาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนการคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์และหากจำเลยทั้งสองไม่เพิกถอนการนำชี้แนวเขตที่ดินให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 113,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6925, 6926 ตามคำฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมชลประทานจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอสอบแนวเขตที่ดินและนำชี้ให้ช่างรังวัดปักหลักเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในเขตคลองชลประทาน คลองระบายน้ำ 4 ซ้ายสุพรรณ 3 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่จำต้องเพิกถอนการคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นคดีมีทุนทรัพย์โดยคู่ความตีราคาที่ดินเนื้อที่พิพาทประมาณ 100,000 บาทเศษ จึงเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งราคาทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา
ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินซึ่งเป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้และถือว่าจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่ให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ จึงไม่รับโอนคดีและคืนสำนวนกลับไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีเรื่องนี้อยุ่ในอำนาจศาลชั้นต้นหรือศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาที่จะพิจารณาพิพากษา เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ อันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนราชการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นของโจทก์ จึงเห็นได้ว่า ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมีจุดประสงค์โต้เถียงแย่งความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นหลัก ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์นั้น จึงเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ คำฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้คือตามราคาที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคแรก นั้นเอง คดีเรื่องนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อที่ดินพิพาทราคา 100,000 บาทเศษ ตามที่คู่ความตีราคาและตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอผักไห่ (เสนาใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่นนี้ ย่อมเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิจารณาพิพากษาต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ให้ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยารับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ