คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยตกลงที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของให้แก่โจทก์โดยจะไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนภายใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญาหากจำเลยไม่ไปโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และจำเลยยอมให้ปรับเป็นเงิน 200,000 บาทกำหนดเวลาดังกล่าวเพียงแต่ให้ไปยื่นคำขอเท่านั้นหาได้หมายความถึงการจดทะเบียนโอนด้วยไม่ เนื่องจากการจดทะเบียนโอนที่ดินจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนซึ่งบางกรณีจำต้องประกาศ30 วันเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินมีโอกาสคัดค้านเสียก่อนดังนั้นกำหนดในสัญญาที่ให้คู่สัญญาไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วัน จึงไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2524 จำเลยกับสามีจำเลยฝ่ายหนึ่งและโจทก์กับภริยาโจทก์อีกฝ่ายหนึ่งตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อจดทะเบียนโอนที่ดินแก่กันหลายแปลง สาระสำคัญในสัญญาข้อ 5 ระบุว่า ที่ดินด้านทิศเหนือโรงภาพยนตร์วัฒนสินสองแปลง คือที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/183หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษเนื้อที่ 2 งาน 16 ตารางวา และ 60 ตารางวา ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้ง 2 แปลงมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ จำเลยตกลงโอนให้เป็นสิทธิแก่โจทก์ทั้ง 2 แปลง หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์และจำเลยได้ไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิ์ในที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/182 ให้แก่โจทก์เมื่อเจ้าหน้าที่ปิดประกาศเรื่องราวการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมครบ 30 วันตามระเบียบแล้ว ได้นัดหมายให้โจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามที่ได้ยื่นเรื่องราวไว้ให้แล้วเสร็จแต่จำเลยไม่ยอมไป จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท ตามข้อ 8ของสัญญา หากจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา ซึ่งจะสามารถจดทะเบียนโอนได้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 เป็นต้นไปแล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 5,020 บาทเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมในส่วนที่เพิ่มขึ้นขอให้บังคับจำเลยไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนโอนที่ดินตามน.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/183 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงแทนเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงิน 200,000 บาท และชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 2 แปลง ในส่วนที่เกิน 5,020 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 374/66และเลขที่ 433/183 จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโดยได้ไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์เพื่อขอจดทะเบียนโอนที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 แต่เนื่องจากที่ดินทั้ง 2 แปลงจะต้องมีประกาศมีกำหนด 30 วัน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2497 ข้อ 5 จำเลยจึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ทันตามกำหนดเวลาในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งระบุระยะเวลาไว้ไม่ถึง 30 วัน จำเลยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ต้องรับชดใช้เงินค่าปรับ 200,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนให้โจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8เป็นโมฆะ เพราะจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้แน่แท้ เนื่องจากระบุระยะเวลาไว้ให้ไม่ถึง 30 วัน ทั้ง ๆ ที่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่พิพาทต้องประกาศมีกำหนด 30 วัน สัญญาประนีประนอมยอมความข้อนี้จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 374/66 และเลขที่ 433/183 หมู่ที่ 6ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษให้โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และชำระเงิน5,000 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ฟังมาว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2524 โจทก์กับภริยาฝ่ายหนึ่งและจำเลยกับสามีอีกฝ่ายหนึ่งได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่กันหลายแปลงตามเอกสารหมาย จ.1 สำหรับจำเลยตกลงที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 374/66และเลขที่ 433/183 หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของให้แก่โจทก์โดยจะไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนภายใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญาหากจำเลยไม่ไปโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้และจำเลยยอมให้ปรับเป็นเงิน 200,000 บาท หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์และจำเลยได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์เจ้าพนักงานรับคำขอแล้วได้ประกาศเพื่อให้มีการคัดค้านมีกำหนด 30 วันปรากฎว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่จำเลยไม่ได้ทำการจดทะเบียนโอนที่ดินจำนวน 2 แปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์
ที่จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาข้อ 8 ระบุให้จดทะเบียนโอนภายใน7 วัน ซึ่งจำเลยไม่อาจปฏิบัติได้อย่างแน่แท้เพราะต้องประกาศ30 วัน ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ได้ความว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 กำหนดให้คู่สัญญาไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญานี้ เห็นว่ากำหนดเวลาดังกล่าวเพียงแต่ให้ไปยื่นคำขอเท่านั้นหาได้หมายความถึงการจดทะเบียนโอนด้วยไม่ เนื่องจากการจดทะเบียนโอนที่ดินจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนซึ่งบางกรณีจะต้องประกาศ 30 วันเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินมีโอกาสคัดค้านเสียก่อน ดังนั้นข้อกำหนดในสัญญาข้อ 8 ที่ให้คู่สัญญาไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วัน จึงไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน

Share