แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุซึ่งมีชื่อของ ส. บุตรโจทก์ร่วมถือสิทธิ และโจทก์ร่วมยอมไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกำลังเดือดร้อน ส. ยอมโอนขายสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุให้ผู้อื่น เงินที่ขายได้เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำขู่บังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยตรงย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้อง ส. ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ โดยทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมและคนในครอบครัว โจทก์ร่วมเกิดความกลัวยอมกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับ จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานกรรโชกตามที่โจทก์ฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 337, 339 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 17,309,886.95 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอัมพรรณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกรรโชกและชิงทรัพย์โจทก์ร่วมตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 เริ่มประมาณปี 2542 โดยโจทก์ร่วมไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะเขลางค์นคร แวะซื้อขนมครกที่จำเลยที่ 1 ขายอยู่บริเวณหน้าสวนสาธารณะดังกล่าวจึงคุ้นเคยกัน และได้เบิกความถึงการเริ่มต้นแห่งการที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากว่า ลูกหนี้เงินกู้ของโจทก์ร่วมหลายรายรวมเป็นเงินกู้เกือบล้านบาทไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์ร่วมจึงเล่าให้จำเลยที่ 1 ฟังจำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 1 รู้จักคนทรง สามารถช่วยเหลือโจทก์ร่วมได้ ให้โจทก์ร่วมจดชื่อลูกหนี้พร้อมเงินค่าทำพิธีจำนวน 3,000 บาท จำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการให้โจทก์ร่วมตกลงมอบเงินและรายชื่อลูกหนี้ให้จำเลยที่ 1 ไป สัปดาห์ต่อมา จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ร่วมว่า คนทรงให้มาบอกว่าโจทก์ร่วมและครอบครัวกำลังมีเคราะห์หนัก เรียกร้องเงินจากโจทก์ร่วมเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โจทก์ร่วมรู้สึกเชื่อถือจึงมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง ครั้งละเป็นหมื่นบาทจนถึงแสนบาท แต่ครอบครัวของโจทก์ร่วมยังไม่ดีขึ้นโจทก์ร่วมเริ่มรู้สึกว่าตนเองถูกหลอกลวงและไม่ยอมให้เงินต่อไป ปี 2543 จำเลยที่ 1 จึงพาจำเลยที่ 2 แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของโจทก์ร่วม อ้างว่าครอบครัวของโจทก์ร่วมกำลังมีภัย จำเลยทั้งสองจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ ขอให้โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองเดือนละ 20,000 ถึง 30,000 บาท แต่โจทก์ร่วมไม่สนใจ ต่อมาจำเลยทั้งสองก็ไปที่บ้านของโจทก์ร่วมอีก นำภาพถ่ายบุตรทั้งสองคนของโจทก์ร่วมไปแสดงพร้อมกับขู่เข็ญว่าจะทำร้ายบุตรทั้งสองคนให้ถึงแก่ชีวิตหากโจทก์ร่วมไม่ยอมให้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมเกิดความกลัวจึงต้องไปถอนเงินจากธนาคารมาให้จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปเบิกถอนเงินจากธนาคารหรือนำเงินรายได้จากค่าเช่าบ้านมาจ่ายให้จำเลยทั้งสองทุกเดือน บางเดือนหลายครั้ง มี 4 ครั้งที่จำเลยทั้งสองไปที่บ้านของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้าน โจทก์ร่วมไม่มีเงินจ่ายให้จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโดยผลักโจทก์ร่วมจนล้มลง ทุบหลังหรือเขย่าตัวโจทก์ร่วมแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป ครั้งที่ 1 และที่ 2 ลักสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ครั้งละ 1 เส้น ครั้งที่ 3 เป็นตุ้มหูกิ่งล้อมเพชร 1 คู่ และครั้งที่ 4 เป็นตุ้มหูเพชร 1 คู่ จำเลยที่ 1 ใช้วิธีโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมหลายครั้ง บางครั้งเป็นเวลา 3 หรือ 4 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ร่วมกำลังหลับ ข่มขู่บังคับให้มอบเงินให้ โจทก์ร่วมก็ต้องจำยอมและไม่กล้าบอกใครเพราะกลัวบุตรจะได้รับอันตราย โดยโจทก์ร่วมจะไปเบิกถอนเงินจากธนาคารมาให้ ระยะแรก จำเลยที่ 1 จะมาเอาเงินที่บ้านของโจทก์ร่วม ระยะหลังจำเลยที่ 1 จะขับรถจักรยานยนต์มารับโจทก์ร่วมไปถอนเงินที่ธนาคารแล้วเอาเงินไป จำเลยที่ 1 จะนัดโจทก์ร่วมให้ไปพูดคุยที่บ้านของจำเลยที่ 1 และสถานที่อื่น โจทก์ร่วมไม่ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้บุตรทั้งสองคนฟัง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ข่มขู่ว่า ถ้านำไปเล่าจะฆ่าบุตรทั้งสองคนให้ตาย เมื่อโจทก์ร่วมไม่มีเงินจะให้ จำเลยที่ 1 ก็จะข่มขู่บังคับให้นำโฉนดที่ดินที่เก็บรักษาไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาให้ โฉนดที่ดินฉบับแรกเลขที่ 13538 บังคับให้จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ร่วมไม่ได้รับเงิน หลังจากนั้นข่มขู่บังคับให้มอบเครื่องประดับอัญมณีที่เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำนำ บางส่วนนำไปขายที่ห้างทองแสงเพชร นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังข่มขู่เอาโฉนดที่ดินอีกฉบับหนึ่งอ้างว่าจะนำไปขายเอง ต่อมาได้พาโจทก์ร่วมไปจดทะเบียนโอนขายให้นางสาวคำปัน ตามหลักฐานการซื้อขาย และจำเลยที่ 1 ได้ข่มขู่บังคับเอาโฉนดที่ดินเลขที่ 130001 กับให้โจทก์ร่วมลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปกู้เงิน ตามสำเนาโฉนดที่ดินหนังสือสัญญากู้เงิน และหนังสือมอบอำนาจ ต่อมามีเจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อจะขาย แต่ขายไม่ได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงคืนโฉนดที่ดินให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมยังได้ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 20950 ของนายบุญชูให้จำเลยที่ 1 ไปตามสำเนาสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์ร่วมไม่มีเงิน จำเลยที่ 1 บังคับให้โจทก์ร่วมไปกู้เงินจำนวน 50,000 บาท โดยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 660 ไปวางเป็นประกัน ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสัญญากู้เงิน และโจทก์ร่วมถูกขู่บังคับจึงไปขอให้นายสมบูรณ์ขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมต้องการใช้เงิน นายสมบูรณ์ยินยอมขายได้เงิน 1,300,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเงินหมดแล้วโจทก์ร่วมส่งมอบเข็มขัดทองคำหนัก 20 บาท ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เคยบังคับให้โจทก์ร่วมไปยืมเงินจากหลานชายของสามีซึ่งบวชเป็นพระภิกษุที่วัด แต่ยืมไม่ได้ ท้ายที่สุดโจทก์ร่วมตัดสินใจเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้นายสมบูรณ์ฟัง นายสมบูรณ์พาโจทก์ร่วมไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปางเพื่อร้องทุกข์ แต่ไม่สามารถร้องทุกข์ได้ จึงไปร้องทุกข์ที่กรุงเทพมหานคร ก่อนจะไปร้องทุกข์ มีโทรศัพท์ข่มขู่ว่าจะทำร้ายบุตรชาย ให้โจทก์ร่วมไปชำระหนี้ให้แก่นางปิ่นมณี นายสมบูรณ์ได้บันทึกเสียงโทรศัพท์ดังกล่าวไว้ จำได้ว่าเป็นเสียงของจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนเคยเรียกโจทก์ร่วมไปสอบถามเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สูญเสียและได้ทำรายละเอียดของเหตุการณ์และทรัพย์สินประกอบคำให้การ ทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายทั้งที่ได้คืนและไม่ได้คืนตามบัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย กับมีนายสมบูรณ์บุตรชายของโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2543 พยานพบว่ามีการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากในธนาคารของโจทก์ร่วมครั้งละจำนวนมาก ๆ หลายครั้งผิดปกติ จึงสอบถามโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมไม่ยอมพูดและร้องไห้ พยานจึงปรึกษานางสาวพรพรรณ์ น้องสาว และได้สอบถามนายบุญชู บิดา บิดาบอกว่ามีผู้หญิงมาหาที่บ้านทราบภายหลังว่าชื่อนางน้อย นางน้อยทำร้ายโจทก์ร่วม ผลักโจทก์ร่วมล้มลง จับตัวเขย่าพยานพยายามสอบถามโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมไม่ยอมบอกและร้องไห้ พยานจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเพื่อนชื่อนายนิรันดร หลังจากนั้นนายนิรันดรได้พูดคุยกับโจทก์ร่วมครั้งแรกโจทก์ร่วมไม่ยอมพูด ครั้งที่สองจึงบอกว่าผู้หญิงที่มาหาชื่อน้อย ทราบว่ามีบ้านอยู่ในซอยหลังวัดดำรงธรรม พยานได้บอกนายบุญชูบิดาว่าหากโจทก์ร่วมออกจากบ้านเมื่อใดให้โทรศัพท์แจ้งพยานทราบด้วย และพยานมีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งชื่อนายธนภาค นายวรฉัตร นายประพัตร์ และนายคมกริช ซึ่งทราบเรื่องและได้วางแผนช่วยกันสะกดรอยตาม บริเวณที่โจทก์ร่วมกับนางน้อยพบกันคือซุ้มนั่งด้านนอกของสวนสาธารณะเขลางค์นคร โจทก์ร่วมและนางน้อยจะนั่งพูดคุยกันครั้งละประมาณ 20 นาที โจทก์ร่วมมีลักษณะเศร้าหมองเครียด ไม่มีความสุข เพื่อนของพยานเคยเดินผ่านบริเวณที่โจทก์ร่วมและนางน้อยนั่งคุยกันเห็นคนทั้งสองมีอาการลุกลี้ลุกลนเมื่อเห็นคนเดินผ่านมา นายนิรันดรและนายวรฉัตรเคยเห็นโจทก์ร่วมมอบเงินให้นางน้อย เมื่อต้นปี 2550 มีคนมาวางยาพิษสุนัขของพยานตายช่วงหัวค่ำมีคนมาขูดสีกระโปรงรถของพยานซึ่งจอดไว้หน้าบ้านฝั่งถนนตรงข้าม นอกจากนี้ยังมีคนเอาเอกสารมีข้อความข่มขู่มาเสียบหรือสอดเข้ามาที่ประตูรั้วบ้าน พยานได้บ่นเรื่องราวที่ถูกกลั่นแกล้งให้โจทก์ร่วมฟัง ต่อมาโจทก์ร่วมจึงเล่าให้ฟังว่าเป็นฝีมือของนางน้อย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม 2550 ก่อนหน้านั้นพยานพยายามสอบถามโจทก์ร่วมตลอดมาบ่อยครั้ง ถึงขั้นทะเลาะและไม่ยอมพูดกันเมื่อทราบความจริงพยานจึงพาโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง แต่ไม่ได้ผลเพราะมีจำเลยที่ 1 กับพวกมารออยู่ที่สถานีตำรวจ พยานจึงไปร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามกรุงเทพมหานคร โดยมีนายประพัตร์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าเห็นโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 นั่งพูดคุยกันที่ซุ้มนั่งข้างสวนสาธารณะเขลางค์นคร สังเกตว่าโจทก์ร่วมไม่มีความสุข และมีนายธนภาคกับนายคมกริชเป็นพยานเบิกความตรงกันว่า เคยเห็นโจทก์ร่วมมอบถุงบรรจุของให้แก่จำเลยที่ 1 ที่บริเวณซุ้มนั่งข้างสวนสาธารณะดังกล่าว กับนายวรฉัตรเป็นพยานเบิกความว่า เห็นโจทก์ร่วมมอบเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีการนัดพบพูดคุยกันบ่อย ๆ ในเรื่องที่ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นรู้เห็น มิใช่พบปะพูดคุยกันโดยบังเอิญ ทั้งการพูดคุยแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ทำให้โจทก์ร่วมเป็นทุกข์แล้วไม่สบายใจ นางรัตนา ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง ระหว่างปี 2536 ถึง 2548 และนางเพ็ญ ซึ่งเคยเห็นเป็นพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขานาก่วม ระหว่างปี 2546 ถึง 2550 ต่างรู้จักกับโจทก์ร่วมเนื่องจากเคยทำงานเป็นลูกน้องของนายบุญชู สามีของโจทก์ร่วม เป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วม โดยนางรัตนาเบิกความว่า ระหว่างปี 2545 ถึง 2547 โจทก์ร่วมมาถอนเงินบ่อยและไม่ค่อยพูดจาต่างกับครั้งก่อน ๆ และจะมีผู้หญิงมาส่งและรับกลับไป จำได้ว่าผู้หญิงคนนั้นคือจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับนางเพ็ญเบิกความว่า ทุกครั้งที่โจทก์ร่วมมาถอนเงินจะมากับผู้หญิงคนหนึ่งและกลับไปด้วยกัน สังเกตว่าโจทก์ร่วมมีลักษณะกังวล พยานเคยสอบถามโจทก์ร่วมว่าทำไมมาถอนเงินบ่อย แต่โจทก์ร่วมไม่ตอบ เมื่อได้เงินแล้วจะรีบกลับไป พยานเคยเดินตามโจทก์ร่วมเพื่อไปส่งนอกอาคาร พบผู้หญิงคนที่มาส่ง สอบถามว่ามาส่งใช่ไหม ได้รับคำตอบว่าใช่พยานจำหน้าผู้หญิงคนนั้นได้คือจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางทองศรี ซึ่งทำงานอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมเป็นพยานเบิกความว่าพยานรู้จักกับนายสมบูรณ์บุตรชายโจทก์ร่วม ต่อมานายสมบูรณ์แนะนำให้รู้จักกับโจทก์ร่วมที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีมีโอกาสพูดคุยกับโจทก์ร่วมประมาณ 10 นาที เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 พยานขับรถยนต์ไปส่งนางอินทิรา ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง แล้วนำรถไปจอดที่จอดรถใต้ธนาคาร เปิดกระจกรถทั้งสองข้างแล้วนั่งรออยู่ในรถ เห็นโจทก์ร่วมเดินเข้ามากับผู้หญิงคนหนึ่ง เห็นผู้หญิงคนนั้นล้วงเอาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ปึกหนึ่งจำนวน 10 ถึง 20 ฉบับ ในกระเป๋าของโจทก์ร่วมไป เห็นคนทั้งสองยืนคุยกันประมาณ 5 นาที โจทก์ร่วมมีลักษณะขรึม ๆ ตาลอย หลังจากนั้นผู้หญิงคนนั้นก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไปโดยมีโจทก์ร่วมนั่งซ้อนท้าย จำได้ว่าผู้หญิงคนนั้นคือจำเลยที่ 1 โดยมีนางอินทิราเป็นพยานเบิกความสนับสนุนตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าการไปเบิกเงินที่ธนาคารของโจทก์ร่วมในระยะแรก ๆ โจทก์ร่วมไปเบิกเงินด้วยตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จะไปรับเงินที่บ้านของโจทก์ร่วม หรือมิฉะนั้นอาจให้โจทก์ร่วมมามอบให้จำเลยที่ 1 ยังสถานที่นัดหมายกันซึ่งรวมถึงร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ในระยะต่อมาจำเลยที่ 1 เป็นคนพาโจทก์ร่วมนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับไปเบิกเงินที่ธนาคารและจำเลยที่ 1 เอาเงินที่เบิกไป นายบุญชูสามีของโจทก์ร่วมเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยที่ 1 มาหาโจทก์ร่วมที่บ้านและทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์สินไปรวม 4 ครั้ง กับมีพันตำรวจเอกยุทธพงศ์พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่าในการดำเนินการสอบสวนมีการตั้งชุดสืบสวนไปหาข้อเท็จจริงในท้องที่และทำรายงานว่าน่าเชื่อว่ามีการหลอกลวงหรือกรรโชกทรัพย์จากโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 กับพวกจริงตามรายงานผลการสืบสวน พยานได้เดินทางมาสอบปากคำโจทก์ร่วมและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และได้บันทึกคำให้การของโจทก์ร่วมคำให้การของนายบุญชู และคำให้การของนายนิรันดรขณะสอบปากคำ นายบุญชูสามารถให้การได้ สามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าพูดคุยโต้ตอบกันได้ แต่ช้ากว่าปกติ ซึ่งในบันทึกคำให้การของนายบุญชู นายบุญชูให้การว่า เห็นจำเลยที่ 1 เข้ามาในบ้าน ทุกครั้งจะมีการโทรศัพท์เข้ามาก่อนบางครั้งนายบุญชูเป็นคนรับสายเอง จากนั้นจำเลยที่ 1 จะมาร้องเรียกให้เปิดประตูเมื่อโจทก์ร่วมเปิดประตู จำเลยที่ 1 เข้ามาแล้วก็จะปิดประตู พูดคุยกันเป็นระยะเวลาหนึ่งบางครั้งเห็นจำเลยที่ 1 ทุบหลังโจทก์ร่วม บางครั้งผลักโจทก์ร่วม บางครั้งจับไหล่โจทก์ร่วมเขย่า เห็นจำเลยที่ 1 ถอดแหวนทองคำ ตุ้มหูที่โจทก์ร่วมใส่ติดตัวไป นายบุญชูพยายามส่งเสียงร้องเอะอะให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่จำเลยที่ 1 อาจไม่ได้ยินหรือไม่เกรงกลัวเนื่องจากนายบุญชูเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก เหตุมักเกิดขึ้นบริเวณเก้าอี้รับแขกชั้นล่างนายบุญชูนั่งอยู่บนชั้นลอย ผนังด้านหน้าเป็นกระจก จึงเห็นเหตุการณ์ตลอด นายบุญชูได้สอบถามโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมเอาแต่ร้องไห้ บอกว่าเป็นเวรกรรมของเราและขอร้องอย่าบอกให้บุตรรู้ และเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวบ่อย นายบุญชูโกรธจะบอกบุตร แต่โจทก์ร่วมก็ห้ามและร้องไห้ขอร้อง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้คำเบิกความของโจทก์ร่วมจะไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาและการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งอย่างชัดเจนแต่ขณะเบิกความ โจทก์ร่วมมีอายุ 77 ปีแล้ว ประสิทธิภาพในการจดจำยอมเสื่อมถอยลงโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ร่วมมีระยะเวลานานเกือบสิบปี จำนวนมากมายซ้ำกันเป็นร้อยครั้ง ยากที่คนคนหนึ่งจะจดจำได้หมด แต่ในชั้นสอบสวนโจทก์ร่วมได้ให้การประกอบเอกสารรายการเบิกถอนเงินในบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมแต่ละบัญชี ซึ่งการเบิกถอนเงินแต่ละครั้งจะมีหลักฐานบันทึกวันเวลาที่เบิกถอนไว้ชัดเจน และพนักงานสอบสวนก็ได้สอบคำให้การของโจทก์ร่วมไปตามลำดับเหตุการณ์โดยอาศัยวันเวลาเบิกถอนเงินแต่ละครั้งที่บันทึกไว้ แม้จะมีนายสมบูรณ์ร่วมด้วยในการสอบปากคำของโจทก์ร่วมแต่พนักงานสอบสวนก็ยืนยันว่านายสมบูรณ์ช่วยอธิบายขยายคำถามของพนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมเข้าใจและสามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง มิได้มีการชี้นำให้โจทก์ร่วมให้การปรักปรำจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด บันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ประกอบคำให้การ และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วม สามารถรับฟังประกอบคำเบิกความของโจทก์ร่วมแสดงถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้ เช่นเดียวกับคำให้การของนายบุญชู ซึ่งนายบุญชูให้การต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 อีกประมาณ 2 ปี จึงได้มาเบิกความต่อศาล พนักงานสอบสวนก็มาเบิกความยืนยันว่าขณะนั้นนายบุญชูสามารถพูดคุยโต้ตอบได้ แต่ช้ากว่าปกติ สามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าได้ ตามภาพถ่ายสภาพบ้านและนายบุญชู เมื่อมาเบิกความที่ศาล อาการป่วยของนายบุญชูย่อมทรุดลงจึงไม่อาจเบิกความตอบคำถามได้ชัดเจน คำเบิกความของนายบุญชูจึงไม่อาจถือเป็นพิรุธ แต่สามารถรับฟังประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของนายบุญชูได้ โจทก์ร่วม นายบุญชู นายสมบูรณ์และพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากอื่นต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน โดยเฉพาะโจทก์ร่วม นายบุญชูและนายสมบูรณ์ต่างมีสถานะทางทรัพย์สินและทางสังคมเหนือกว่าจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีสาเหตุที่จะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง ขณะโจทก์ร่วมรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมมีอายุถึง 67 ปี ถือเป็นผู้สูงอายุและเข้าสู่วัยชราแล้ว ความรู้สึกนึกคิด สภาพของจิตใจย่อมไม่เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อน จิตใจอ่อนไหวและถูกชักจูงให้เชื่อหรือถูกข่มขู่ให้กลัวได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจทก์ร่วมพักอาศัยอยู่กับนายบุญชูสามีเพียง 2 คน นายบุญชูก็ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เดินและเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ ตรงกันข้ามโจทก์ร่วมกลับต้องมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสามีตลอดมา โจทก์ร่วมจึงดำเนินชีวิตอยู่ในแต่ละวันด้วยลำพังตนเอง และต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เมื่อโจทก์ร่วมรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวและขนมครก แต่ก็มีอายุเกือบห้าสิบปีและมีครอบครัวแล้วถือว่ามีวัยและประสบการณ์ชีวิตใกล้เคียงกัน เป็นธรรมดาที่โจทก์ร่วมจะเล่าเรื่องในครอบครัวของตนให้จำเลยที่ 1 ฟัง และเมื่อมีปัญหาก็อาจปรึกษาหารือกับจำเลยที่ 1 ด้วย ทำให้จำเลยที่ 1 รู้จักครอบครัว ฐานะและความเป็นอยู่ของโจทก์ร่วมเป็นอย่างดี การที่โจทก์ร่วมเล่าปัญหาที่มีคนกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมไปแล้วไม่ชำระหนี้รวมเป็นเงินเกือบล้านบาทให้จำเลยที่ 1 ฟังเป็นทำนองปรับทุกข์จึงนับว่ามีเหตุผล การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าตนรู้จักกับคนทรงซึ่งสามารถช่วยโจทก์ร่วมให้ลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมได้ ให้โจทก์ร่วมจดชื่อลูกหนี้ของโจทก์ร่วมเพื่อให้คนทรงไปทำพิธี และโจทก์ร่วมต้องจ่ายเงิน 3,000 บาท เป็นค่าทำพิธีสำหรับคนทรง โจทก์ร่วมยอมตกลง ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อเหตุผล จำเลยที่ 1 เป็นแม่ค้าลักษณะหาเช้ากินค่ำ อยู่ในวิสัยที่จะคุ้นเคยกับเรื่องการทรงเจ้าการเข้าทรง ส่วนโจทก์ร่วมซึ่งอาจไม่คุ้นเคยแต่ย่อมทราบว่าเป็นเรื่องลี้ลับเกี่ยวกับวิญญาณและไสยศาสตร์ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้โจทก์ร่วมได้ เพียงแต่เสียเงินจำนวนหนึ่ง การที่โจทก์ร่วมยอมตกลงจ่ายเงินค่าทำพิธีซึ่งถือเป็นจำนวนไม่น้อยสำหรับจำเลยที่ 1 น่าเชื่อว่าทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องค้าขายทั้งวันเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวมองเห็นช่องทางและโอกาสที่จะยักย้ายถ่ายเทเงินและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ไม่ยาก ดังจะเห็นได้จากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ในสัปดาห์ต่อมา จำเลยที่ 1 มาบอกโจทก์ร่วมว่า คนทรงให้มาบอกว่าโจทก์ร่วมและครอบครัวกำลังมีเคราะห์ เรียกร้องเงินจากโจทก์ร่วมไปทำพิธีเพื่อสะเดาะเคราะห์ โจทก์ร่วมก็เชื่อเพราะเห็นว่าครอบครัวกำลังมีเคราะห์จริง เช่น สามีเจ็บป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ถูกลูกหนี้โกงยืมเงินไปแล้วไม่ใช้ จึงจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าทำพิธีหลายครั้ง ครั้งละเป็นหมื่นบาทจนถึงหลักแสนบาท ต่อมาพบว่าปัญหาต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมไม่ดีขึ้น โจทก์ร่วมรู้สึกว่าถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง จึงไม่เชื่อถือและไม่ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 อีก ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าโจทก์ร่วมมีทรัพย์สินและเงินฝากในธนาคารเป็นจำนวนมาก ไม่มีคนดูแลและคุ้มครอง มีจิตใจอ่อนไหว ถูกชักจูงให้เชื่อได้ง่าย จึงหาวิธีใหม่เพื่อเรียกเงินจากโจทก์ร่วมโดยครั้งแรกจำเลยที่ 1 ไปหาโจทก์ร่วมที่บ้านโดยพาจำเลยที่ 2 ซึ่งแต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปด้วย แต่ให้จำเลยที่ 2 รออยู่นอกบ้าน จำเลยที่ 1 ชี้ให้โจทก์ร่วมดูจำเลยที่ 2 ว่าเป็นสามีและเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สามารถให้ความคุ้มครองครอบครัวของโจทก์ร่วมที่กำลังถูกรังแกได้ ขอให้โจทก์ร่วมจ่ายค่าคุ้มครองเดือนละ 20,000 บาท แต่โจทก์ร่วมปฏิเสธและไม่สนใจ สัปดาห์ต่อมาจำเลยที่ 1 เปลี่ยนใช้วิธีการใหม่เพื่อทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยจำเลยทั้งสองไปหาโจทก์ร่วมที่บ้านโดยให้จำเลยที่ 2 รออยู่นอกบ้าน นำภาพถ่ายบุตรทั้ง 2 คน ของโจทก์ร่วมให้โจทก์ร่วมดู แล้วพูดโดยใช้ถ้อยคำข่มขู่ว่า “นี่รูปลูกของมึงใช่ไหม” ย่อมทำให้โจทก์ร่วมตกใจ จำเลยที่ 1 พูดต่อไปว่า หากไม่อยากให้บุตรทั้ง 2 คนตาย ให้จ่ายเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยทั้งสองส่งคนไปติดตามบุตรของโจทก์ร่วมไว้แล้ว และห้ามไปบอกใคร การที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่ว่าจะทำอันตรายแก่บุตรทั้ง 2 คน ของโจทก์ร่วม ตามวิสัยผู้เป็นมารดาย่อมมีความรักและหวงแหนบุตรของตนยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติที่ตนมีอยู่ ด้วยจิตใจและสติปัญญาที่อ่อนด้อยลงเพราะความชรา ทำให้เกิดความกลัวอย่างขาดเหตุผล ไม่กล้าที่จะปฏิเสธคำขอของจำเลยที่ 1 ได้ และไม่กล้าที่จะเล่าให้ใครฟัง โจทก์ร่วมอยู่ในภาวะจำยอมต้องไปเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากของตนที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง จำนวน 50,000 บาท มาให้จำเลยทั้งสองในตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะมารับเงินที่บ้านของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จะโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมก่อนและพูดย้ำอีกว่าที่บ้านของโจทก์ร่วมมีคนอยู่ด้วยกัน 2 คน ถ้าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครช่วย และห้ามไม่ให้บอกใครเด็ดขาดหากมีใครรู้ บุตรของโจทก์ร่วมต้องตายก่อน และหลังจากนั้นตลอดมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2550 โจทก์ร่วมได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในธนาคารของโจทก์ร่วมทุกบัญชีจำนวนเป็น 100 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 11,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในกิจการใดหรือไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ใด โจทก์ร่วมมีรายได้จากค่าเช่าบ้านเดือนละประมาณ 20,000 บาท ทุกเดือน ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของตนในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเลย วันที่ 3 พฤษภาคม 2544 โจทก์ร่วมจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13538 ให้แก่จำเลยทั้งสองในราคา 100,000 บาท วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ร่วมจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 432 ให้แก่นางสาวคำปัน ในราคา 800,000 บาท วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 โจทก์ร่วมทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินจำนวน 150,000 บาท จากนางปิ่นมณี โดยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 130001 ของโจทก์ร่วมไปวางเป็นประกันและวันที่ 10 สิงหาคม 2549 โจทก์ร่วมกู้เงินจำนวน 50,000 บาท จากนางศรีพรรณ ร้านจอห์นเบเกอรี่ โดยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 660 ไปวางเป็นประกัน ซึ่งการขายที่ดินของโจทก์ร่วมหรือการกู้เงินโดยนำที่ดินของโจทก์ร่วมไปวางเป็นประกันดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีความจำเป็นต้องใช้เงินแต่อย่างใด ในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ร่วมยังคงมีเงินฝากในธนาคารเหลืออยู่มากกว่าเงินที่ได้จากการขายที่ดินหรือกู้ยืมเงิน ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ร่วมมาออกกำลังกายและถูกสุนัขกัด ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยพาไปหาแพทย์ จำเลยที่ 1 พาโจทก์ร่วมไปที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โจทก์ร่วมไม่มีเงินติดตัว จำเลยที่ 1 จึงจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 3,000 บาท แทนโจทก์ร่วม แล้วพาโจทก์ร่วมกลับบ้าน โจทก์ร่วมนำเงินมาใช้คืนให้เย็นวันนั้น หลังจากนั้นโจทก์ร่วมมาปรับทุกข์และร้องไห้ว่าบุตรชายไม่ดูแล พูดขอยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีให้ โจทก์ร่วมนำโฉนดที่ดินมาขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยขาย และนำโฉนดที่ดินมาขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยพาไปกู้เงินและต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ช่วยขายที่ดินให้นางสาวคำปัน ราคา 800,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเงินของโจทก์ร่วม เห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน นายสมบูรณ์บุตรชายโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าโจทก์ร่วมไม่เคยถูกสุนัขกัด ทั้งการที่จำเลยที่ 1 พาโจทก์ร่วมไปหาแพทย์ซึ่งต้องใช้เวลานานโดยทิ้งร้านของตนที่ต้องขายขนมครกหรือขายก๋วยเตี๋ยวประจำย่อมขัดต่อเหตุผล ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า โจทก์ร่วมมีเงินฝากอยู่ในธนาคารหลายบัญชีเป็นจำนวนหลายล้านบาท ข้อที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าโจทก์ร่วมเดือดร้อนเงิน ขอยืมเงินจำเลยที่ 1 ก็ดี ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยขายหรือซื้อที่ดินก็ดี ช่วยพาไปกู้เงินก็ดี ล้วนขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในปี 2541 ถึง 2543 จำเลยทั้งสองเช่าตึกแถวของนายสม พักอยู่อาศัย ค่าเช่าเดือนละ 800 บาท และ 1,800 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพค้าขายก๋วยเตี๋ยวและขนมครก สภาพร้านก๋วยเตี๋ยวมีลักษณะปลูกสร้างเป็นเพิงแข็งแรงติดถนน ตั้งโต๊ะอาหารได้ประมาณ 3 โต๊ะ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ใช้ขายขนมครกในตอนเช้าด้วย กิจการค้าขายของจำเลยที่ 1 น่าจะมีรายได้ไม่มากนัก จำเลยที่ 2 รับราชการตำรวจ ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางกลับบ้านพักในวันหยุด มีรายได้เฉพาะเงินเดือนประจำ เดือนละประมาณ 8,000 ถึง 10,000 บาท จำเลยทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน จำเลยทั้งสองไม่มีรายได้ทางอื่น รายได้ของจำเลยทั้งสองในแต่ละเดือนน่าจะเพียงพอเลี้ยงดูครอบครัวแต่ไม่น่าจะมีเงินเหลือเก็บไว้ แต่ปรากฏว่าในปี 2544 จำเลยทั้งสองร่วมกันปลูกสร้างบ้านตึก 2 ชั้น 3 ห้องนอน มีรั้วและประตูทำด้วยเหล็กมั่นคงแข็งแรง แม้จะปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา แต่ก็เป็นการปลูกสร้างบ้านเกือบเต็มเนื้อที่ ราคาค่าปลูกสร้างน่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในช่วงเดือนมกราคม 2544 เดือนเดียว โจทก์ร่วมเบิกถอนเงินจากบัญชีของตนถึง 5 ครั้ง เป็นเงินรวมประมาณ 3,000,000 บาท และปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกรรโชกทรัพย์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 เป็นต้นมา ในเดือนพฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ 1 คัน ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นดรีม เอเซส วันที่ 12 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งยี่ห้อไดฮัทสุ 1 คัน วันที่ 20 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นดรีม 1 คัน วันที่ 24 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า 1 คัน และวันที่ 8 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า 1 คัน ตามสำเนารายการจดทะเบียนรถ จากลักษณะการจดทะเบียนสามารถบ่งบอกได้ว่า รถจักรยานยนต์ทั้ง 4 คัน เป็นรถใหม่ และจำเลยที่ 1 ซื้อด้วยเงินสด ซึ่งราคารถจักรยานยนต์แต่ละคันไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท และรถยนต์ใช้แล้วอีก 1 คัน จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่นำมาปลูกสร้างบ้านก็ดี นำมาซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ก็ดี จำเลยทั้งสองได้รับมรดก หรือถูกรางวัลสลากกินแบ่ง หรือเป็นเงินรายได้จากกิจการอื่นใด จึงมีน้ำหนักให้น่าเชื่อว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ร่วมที่มอบให้จำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่าการข่มขู่เรียกเอาเงินจากโจทก์ร่วม ส่วนใหญ่จำเลยทั้งสองมักจะมาในเวลาเช้ามืด ซึ่งจะสอดคล้องกับคำเบิกความของพระภิกษุเขื่อนเพชร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่เบิกความว่า ขณะออกบิณฑบาตเคยเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปหาโจทก์ร่วมพยานสอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามาทำไม จำเลยที่ 1 ตอบว่านำน้ำเต้าหู้มาให้โจทก์ร่วมและสอดคล้องกับคำเบิกความของว่าที่ร้อยตรีมนัส ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากนายสมบูรณ์ให้ติดตามพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วม ตามสัญญาว่าจ้างที่เบิกความว่า ทีมงานได้เฝ้าดูจำเลยที่ 1 ช่วงเดือนกรกฎาคม 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2549 เห็นจำเลยที่ 1 ออกจากบ้านมาใช้โทรศัพท์ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะข้างสวนสาธารณะเขลางค์นคร ประมาณ 10 ถึง 20 ครั้ง ในช่วงเวลาเช้ามืดและเวลาเย็น นอกจากนี้ยังเห็นโจทก์ร่วมนั่งพูดคุยกับจำเลยที่ 1 ที่บริเวณซุ้มด้านนอกสวนสาธารณะ เขลางค์นครและข้างสวนสาธารณะดังกล่าว สังเกตเห็นว่าคนทั้งสองคุยกันในลักษณะปรับทุกข์ โจทก์ร่วมมีอาการเศร้า แม้การเฝ้าดูของทีมงานของว่าที่ร้อยตรีมนัสจะไม่เห็นโจทก์ร่วมร้องไห้และไม่เห็นจำเลยที่ 1 แสดงอาการขู่กรรโชกโจทก์ร่วม ก็จะฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ข่มขู่บังคับโจทก์ร่วมไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุผลที่โจทก์ร่วมจะยอมมอบเงินหรือทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยความเสน่หา แต่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีความฉลาดพอที่กระทำการข่มขู่บังคับในที่ลับตาคน เช่น หากไปหาโจทก์ร่วมที่บ้าน เมื่อโจทก์ร่วมเปิดประตูซึ่งเป็นเหล็กยืด จำเลยที่ 1 เข้าไปแล้วก็จะปิดประตูเหล็กยืดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีคนภายนอกล่วงรู้ได้ หรือการพูดข่มขู่ทางโทรศัพท์ซึ่งจะรู้เฉพาะคนที่พูดโทรศัพท์เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการนัดพบโจทก์ร่วมในที่สาธารณะ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่แสดงกิริยาอาการข่มขู่บังคับโจทก์ร่วมให้บุคคลอื่นเห็นอาจใช้เพียงคำพูดเท่านั้นและในระยะหลัง ๆ มีการใช้กระดาษที่มีข้อความข่มขู่ เช่น “กูรู้ว่ามึงยังมีเงินและทรัพย์สินอีกเยอะ ถ้าไม่เอามาให้กู ลูกมึงตาย” หรือ “กูเตือนมึงแล้วถ้าขนาดนี้มึงยังขัดขืนกูจะฆ่าให้หมดบ้าน” หรือช่วงที่โจทก์ร่วมกับนายสมบูรณ์ติดต่อเพื่อแจ้งความ มีกระดาษข้อความว่า “ถึงยายอัมพรรณ เรื่องที่จะทำอยู่ทั้งหมดให้เลิกคิดซะทางข้ามีพวกแยะ แม้ตำรวจข้าก็สั่งได้ ถ้ายังไม่หยุด จะเอาเรื่องข้า แกจะต้องเสียใจ” หรือมีคนไปวางยาเบื่อฆ่าสุนัขของนายสมบูรณ์บุตรของโจทก์ร่วมหรือขูดสีรถยนต์ของนายสมบูรณ์เสียหาย ซึ่งย่อมมีผลเป็นการข่มขู่โจทก์ร่วมให้หวาดกลัวยิ่งขึ้นแม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีพยานรู้เห็นว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นการกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ก็มีเพียงจำเลยทั้งสองที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าร่วมกันข่มขู่บังคับเอาเงินและทรัพย์สินจากโจทก์ร่วม ประกอบในระหว่างการสอบสวน มีคนโทรศัพท์ไปพูดกับโจทก์ร่วมที่บ้านบอกให้โจทก์ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ที่ร้านปิ่นมณี ถ้าไม่รับผิดชอบบาปจะตามทัน จะตายไม่รู้ตัว ซึ่งโจทก์ร่วมจำเสียงคนที่โทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมได้ว่าเป็นเสียงของจำเลยที่ 1 และขณะนั้นนายสมบูรณ์อยู่กับโจทก์ร่วมด้วยจึงได้บันทึก เสียงโทรศัพท์นั้นไว้ ตามเทปบันทึกเสียง ซึ่งมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า โจทก์ร่วมจำเสียงของจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุมีผล มีน้ำหนักให้รับฟังโดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของโจทก์ร่วมและคนในครอบครัว จนโจทก์ร่วมเกิดความกลัว ยอมมอบเงินและจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13538 ให้แก่จำเลยทั้งสอง กับมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 432 ให้จำเลยที่ 1 ไปขายในราคา 800,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 เอาเงินค่าที่ดินไปทั้งหมด และมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 20950 ราคา 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวรวมทั้งหมด 160 ครั้ง อันเป็นความผิดฐานกรรโชกหลายกรรมต่างกัน
แต่ในส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุซึ่งเป็นชื่อของนายสมบูรณ์ถือสิทธิ และโจทก์ร่วมยอมไปขอร้องนายสมบูรณ์ให้โอนขายสิทธิการเช่าดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมกำลังเดือดร้อน นายสมบูรณ์ต้องยอมโอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุให้ผู้อื่นในราคา 1,300,000 บาท โดยเงินที่ขายได้เข้าบัญชีเงินฝากในธนาคารของโจทก์ร่วม จะเห็นได้ว่าการกระทำตามคำขู่บังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยตรง ย่อมไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้องนายสมบูรณ์ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ โดยทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมและคนในครอบครัว โจทก์ร่วมเกิดความกลัว ยอมกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานกรรโชกตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า ในวันที่ 27 เมษายน 2549 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปเอาโฉนดที่ดินเลขที่ 130001 ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง มอบให้จำเลยที่ 1 ไปข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินจำนวน 150,000 บาท จากนางปิ่นมณี โดยเอาโฉนดที่ดินดังกล่าววางเป็นประกัน แล้วจำเลยที่ 1 เอาเงินกู้จำนวนดังกล่าวไป ต่อมาโจทก์ร่วมได้โฉนดที่ดินดังกล่าวคืนมาแล้ว และนางปิ่นมณีได้เปลี่ยนสัญญากู้เงินฉบับใหม่เป็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้เงินจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 130001 หรือชดใช้เงินกู้แก่โจทก์ร่วมอีก นอกจากนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในวันที่ 27 เมษายน 2549 ดังกล่าว นอกจากจำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมเอาโฉนดที่ดินเลขที่ 130001 มามอบให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังข่มขู่บังคับให้มอบสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 2 เส้น ราคา 40,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 8,000 บาท ด้วยนั้น แต่ทางพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ร่วมได้มอบทรัพย์สินทั้ง 2 รายการให้แก่จำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ได้ว่าในวันดังกล่าวโจทก์ร่วมนำทรัพย์สินทั้งสองรายการดังกล่าวออกมาจากตู้นิรภัยและมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับและใช้กำลังประทุษร้ายให้โจทก์ร่วมมอบทรัพย์สินอันเป็นอัญมณีและเครื่องประดับทองรูปพรรณแก่จำเลยที่ 1หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2543 วันใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมแล้วชิงทรัพย์ของโจทก์ร่วมรวม 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2 ถึง 3 วัน ครั้งแรกจำเลยที่ 1 ผลักโจทก์ร่วมจนล้มลงขาซ้ายได้รับบาดเจ็บเดินไม่สะดวก แล้วลักสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 28,000 บาท ไป ครั้งที่สองจำเลยที่ 1 จับไหล่โจทก์ร่วมเขย่า ทุบหลังและฉุดดึงตามร่างกาย แล้วลักสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 28,000 บาท ไป ครั้งที่สามจำเลยที่ 1 ใช้กำลังทำร้ายทำนองเดียวกัน ลักตุ้มหูทับทิมล้อมเพชร 1 คู่ ราคา 45,000 บาท และครั้งที่สี่ จำเลยที่ 1 ใช้กำลังทำร้ายทำนองเดียวกัน ลักตุ้มหูเพชร 1 คู่ ราคา 30,000 บาท ไป วันที่ 25 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับพาโจทก์ร่วมไปเปิดตู้นิรภัยที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง นำเข็มกลัดเพชร 1 อัน ราคา 35,000 บาท แหวนเพชรแถว 4 วง ราคารวม 80,000 บาท และแหวนเพชรเม็ดใหญ่ 1 วง ราคา 100,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับพาโจทก์ร่วมไปเปิดตู้นิรภัยที่ธนาคารดังกล่าวนำแหวนเพชรแบบข้าวหลามตัด 1 วง ราคา 35,000 บาท แหวนหยกล้อมเพชร 2 วง รวมราคา 60,000 บาท และแหวนเพชรซีกโบราณ 1 วง ราคา 70,000 บาท รวมราคา 165,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 วันที่ 7 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับพาโจทก์ร่วมไปเปิดตู้นิรภัยที่ธนาคารดังกล่าว นำสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 28,000 บาท และสร้อยแขนทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 14,000 บาท รวมราคา 42,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 วันที่ 24 มกราคม 2549 จำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับพาโจทก์ร่วมไปเปิดตู้นิรภัยที่ธนาคารดังกล่าว นำเข็มขัดนาก 1 เส้น ราคา 8,000 บาท แหวนเพชรเม็ดเดียวแบบผู้ชาย 1 วง ราคา 15,000 บาท จี้ห้อยเพชรรูปดาว 1 อัน ราคา 10,000 บาท กำไลแขนทองคำหนัก 2 บาท 1 วง ราคา 6,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง 2 เส้น รวมราคา 2,000 บาท สร้อยทับทิมล้อมเพชร 1 เส้น ราคา 6,000 บาท แหวนทับทิมล้อมเพชร 1 วง ราคา 5,000 บาท แหวนเพชรแถว 1 วง ราคา 15,000 บาท และสร้อยยี่หร่าเพชรสลับทับทิม 1 เส้น ราคา 30,000 บาท รวมราคา 97,000 บาท ไปจำนำแก่สถานธนานุบาลเทศบาลนครลำปางและนำเงินที่ได้จากการจำนำจำนวน 97,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 1 ทั้งหมด ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 นายสมบูรณ์นำเงินจำนวน 97,650 บาท ไปไถ่ถอนทรัพย์ทั้ง 9 รายการคืนมา ตามใบเสร็จรับเงิน และปลายเดือนมิถุนายน 2550 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาขู่บังคับเอาเงินจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมบอกว่าไม่มี จำเลยที่ 1 ก็บอกให้เอาของมีค่าอื่นมาแทน โจทก์ร่วมจึงนำเข็มขัดทองคำหนัก 20 บาท 1 เส้น ราคา 280,000 บาท มามอบให้จำเลยที่ 1 ที่ซุ้มนั่งข้างสวนสาธารณะเขลางค์นคร เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีตัวโจทก์ร่วมเพียงคนเดียวเป็นพยานเบิกความประกอบคำให้การชั้นสอบสวน และบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ ยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงว่าโจทก์ร่วมอยู่ในครอบครัวที่มั่งคั่ง เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนลำปางกัลยาณีซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง บิดาเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดลำปาง และนายบุญชูสามีก็มีตำแหน่งผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดลำปางเช่นเดียวกัน โจทก์ร่วมจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจและทางสังคมค่อนข้างดี ประกอบกับก่อนหน้านี้โจทก์ร่วมก็ทำการค้าขายเครื่องประดับอัญมณีเป็นงานอดิเรกด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีเครื่องประดับติดตัว เก็บไว้ที่บ้านและฝากเก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคารหลายรายการจึงไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ การที่โจทก์ร่วมเบิกความและให้การในชั้นสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมมอบสร้อยแขนทองคำแหวนเพชร จี้เพชร และเครื่องประดับอื่นหลายรายการ โดยโจทก์ร่วมสามารถจดจำทรัพย์ของโจทก์ร่วมเหล่านั้นได้ว่าถูกจำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับเอาทรัพย์สินใดไปในช่วงวันเวลาใด ก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติหรือมีพิรุธ เพราะธรรมชาติของผู้หญิงย่อมรักและสนใจเครื่องประดับอัญมณีต่าง ๆ และชอบที่จะแสวงหานำมาสะสมไว้เป็นสมบัติของตนหรือยกให้บุตรหลานในโอกาสอันควร คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมประกอบบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกระทำต่อโจทก์ร่วมซึ่งมีเหตุผลต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมมอบเงินหรือไปเบิกถอนเงินจากธนาคารมาให้แก่จำเลยทั้งสองหลายครั้ง ย่อมเป็นธรรมดาที่บางครั้งโจทก์ร่วมนึกเสียดายและพยายามขัดขืน ดังที่โจทก์ร่วมได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 และสามีมาข่มขู่และเรียกเงินจากโจทก์ร่วมต่อเนื่องกันหลาย ๆ ครั้ง ส่วนใหญ่มักจะมาเวลาเช้ามืด ซึ่งทุกครั้งโจทก์ร่วมพยายามขัดขืน ถ่วงเวลา จำเลยที่ 1 เคยทำร้ายโดยวิธีผลักให้ล้มลง ทุบหลัง จับไหล่เขย่าอย่างแรง และใช้กำลังถอดตุ้มหู สร้อยคอ และแหวนทองคำที่โจทก์ร่วมชอบใส่ติดตัวเป็นประจำไป โดยประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2543 จำเลยที่ 1 ใช้กำลังถอดเอาทรัพย์สินจากตัวของโจทก์ร่วมรวม 4 ครั้ง ครั้งแรกถอดเอาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ครั้งที่สองถอดเอาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ครั้งที่สามปลดเอาตุ้มหูทับทิมล้อมเพชร 1 คู่ ครั้งที่สี่ปลดเอาตุ้มหูเพชร 1 คู่ เหตุทั้งหมดเกิดขึ้นในบ้านบริเวณชั้นล่างของบ้านตลอดเวลาที่โจทก์ร่วมถูกทำร้าย นายบุญชูสามีซึ่งนั่งอยู่ในห้องชั้นลอยมองเห็นเหตุการณ์ตลอด แต่โจทก์ร่วมขอร้องไม่ให้นายบุญชูเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บุตรฟัง และผลแห่งการถูกผลักล้มในครั้งแรกทำให้โจทก์ร่วมต้องรักษาตัวเนื่องจากกระดูกขาโก่งต่อเนื่องตลอดมา จึงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมกลัวมากและยอมนำทรัพย์สินและเงินไปให้จำเลยทั้งสองที่บ้านตามที่จำเลยทั้งสองเรียกร้องเรื่อยมา การเข้ามาชิงทรัพย์ในบ้านจำเลยที่ 2 จะมากับจำเลยที่ 1 ทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้ามาในบ้าน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์จากโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยทั้งสองก็พากันกลับไป นายบุญชูให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยที่ 1 เข้ามาในบ้าน และทุกครั้งจำเลยที่ 1 จะโทรศัพท์เข้ามาก่อน บางครั้งนายบุญชูจะเป็นคนรับสายเอง เมื่อจำเลยที่ 1 มาเรียกให้เปิดประตู และเมื่อเข้ามาในบ้านแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะปิดประตูบ้าน พูดคุยกับโจทก์ร่วม แต่นายบุญชูไม่ได้ยินว่าคุยเรื่องอะไร บางครั้งเห็นจำเลยที่ 1 ทุบหลังโจทก์ร่วม ผลักโจทก์ร่วม จับไหล่โจทก์ร่วมเขย่า และถอดเอาแหวนทองคำ ตุ้มหูที่โจทก์ร่วมใส่ติดตัว นายบุญชูพยายามส่งเสียงเอะอะให้จำเลยที่ 1 หยุดจำเลยที่ 1 อาจไม่ได้ยินหรือไม่เกรงกลัวเนื่องจากนายบุญชูเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก เมื่อได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะรีบออกจากบ้านไป นายบุญชูตกใจมากที่เห็นโจทก์ร่วมถูกทำร้ายและชิงทรัพย์ ครั้งแรกนายบุญชูสอบถามโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้แต่ร้องไห้และพูดว่าช่างมัน มันเป็นเวรกรรมของโจทก์ร่วมและขอร้องไม่ให้บอกบุตร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เป็นประจำ นายบุญชูจึงโกรธและบอกว่าจะบอกให้บุตรรู้ โจทก์ร่วมก็ร้องไห้และขอร้องว่าถ้าบอกบุตร บุตรจะเป็นอันตราย คำให้การของโจทก์ร่วมและนายบุญชูสอดคล้องต้องกันเป็นการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่มีลักษณะปรักปรำจำเลยทั้งสอง เพราะนายบุญชูมิได้เบิกความถึงจำเลยที่ 2 เพราะไม่เห็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้เข้ามาในบ้านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำการข่มขู่บังคับเอาเงินจากโจทก์ร่วมมาหลายครั้งแล้ว จึงเกิดความย่ามใจ กล้าใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมเมื่อโจทก์ร่วมขัดขืน และหลังจากนั้นก็ขู่บังคับให้โจทก์ร่วมนำเครื่องประดับที่เก็บไว้ที่บ้านหรือในตู้นิรภัยของธนาคารมาให้โดยโจทก์ร่วมไม่กล้าขัดขืน ประกอบกับใบเสร็จรับเงินการไถ่ถอนจำนำทรัพย์สิน 9 รายการ ตามที่นายสมบูรณ์ต้องนำเงินไปไถ่ถอนแทนมาจากโรงรับจำนำ สอดคล้องกับทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ว่าจำเลยที่ 1 ข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมไปเอาทรัพย์สินที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคารมาให้จำเลยที่ 1 บางชิ้นที่จำเลยที่ 1 ชอบก็จะเก็บไว้ ที่เหลือจะบังคับให้โจทก์ร่วมนำไปจำนำแล้วจำเลยที่ 1 จะเอาเงินที่ได้จากการจำนำไปทั้งหมด พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีเหตุผล มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์โจทก์ร่วมไปรวม 4 ครั้ง ครั้งแรกใช้กำลังประทุษร้าย ผลักโจทก์ร่วมล้มลงได้รับบาดเจ็บที่ขาซ้าย แต่ไม่ปรากฏบาดแผลส่วนสามครั้งหลังเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายโดยการทุบหลัง จับไหล่โจทก์ร่วมเขย่าอย่างแรงรวมทั้งผลัก การชิงทรัพย์ทั้งสี่ครั้งไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป ได้แก่ สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 2 เส้น ราคา 56,000 บาท ตุ้มหูทับทิมล้อมเพชร 1 คู่ ราคา 45,000 บาท และตุ้มหูเพชร 1 คู่ ราคา 30,000 บาท และกรรโชกเอาเครื่องประดับและทองรูปพรรณของโจทก์ร่วมไปรวม 6 ครั้ง ได้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปคือ เข็มกลัดเพชร 1 อัน ราคา 35,000 บาท แหวนเพชรแถว 4 วง รวมราคา 80,000 บาท แหวนเพชรเม็ดใหญ่ 1 วง ราคา 100,000 บาท แหวนเพชรแบบข้าวหลามตัด 1 วง ราคา 35,000 บาท แหวนหยกล้อมเพชร 2 วง รวมราคา 60,000 บาท แหวนเพชรซีกโบราณ 1 วง ราคา 70,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 28,000 บาท สร้อยแขนทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 14,000 บาท และเข็มขัดทองคำหนัก 20 บาท 1 เส้น ราคา 280,000 บาท กับที่นำเครื่องประดับและทองรูปพรรณไปจำนำรวม 9 รายการ ได้เงิน 97,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 เอาเงินจำนวนดังกล่าวไปอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบปฏิเสธมีเพียงจำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ ทั้งมิได้นำสืบถึงการได้มาของทรัพย์สินของตนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ปกติ เป็นพิรุธ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ และแม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นการนัดพบพูดคุยกับโจทก์ร่วม พูดจาข่มขู่รับเงิน บังคับเอาทรัพย์สินจากโจทก์ร่วม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็นำสืบฟังได้ว่า ในครั้งแรกที่จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปที่บ้านของโจทก์ร่วม แต่ให้จำเลยที่ 2 ยืนอยู่นอกบ้านโดยจำเลยที่ 1 ชี้ให้โจทก์ร่วมเห็นจำเลยที่ 2 ซึ่งยืนอยู่นอกบ้านและแต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสามารถให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ร่วมและครอบครัวจากการถูกรังแกได้ ขอให้โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เดือนละ 20,000 บาท แต่โจทก์ร่วมเพิกเฉยและไม่สนใจสัปดาห์ต่อมาจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปที่บ้านของโจทก์ร่วมอีก และให้ยืนรออยู่นอกบ้าน โดยจำเลยที่ 1 นำภาพถ่ายบุตรทั้งสองคนของโจทก์ร่วมให้โจทก์ร่วมดูแล้วพูดว่านี่รูปบุตรของโจทก์ร่วมใช่ไหม หากไม่อยากให้บุตรทั้งสองคนตาย โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงิน 50,000 บาท โจทก์ร่วมต้องยอมไปเบิกเงินธนาคารมาจ่ายให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มารับเงินที่บ้านของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ก็มาด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ในการข่มขู่บังคับโจทก์ร่วมมาแต่แรก การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านของโจทก์ร่วม แม้จะยืนรออยู่นอกบ้าน ก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 อยู่ในลักษณะที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ได้ทันที จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไปกระทำการข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมมอบเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 นำมาปลูกสร้างบ้าน ซื้อทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้น รวมทั้งการรับโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13538 มาใส่ชื่อตนและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยจำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายเงินค่าที่ดินจำนวน 100,000 บาท พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการกระทำความผิดฐานกรรโชกรวมทั้งความผิดต่อเสรีภาพร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ในส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมและนายบุญชูเพียงว่า การเข้ามาชิงทรัพย์ในบ้านโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 จะมากับจำเลยที่ 1 ทุกครั้ง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้ามาในบ้าน และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามาในบ้านแล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะปิดประตูบ้านพูดคุยกับโจทก์ร่วม เมื่อก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 ข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมเกิดความกลัวยอมมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปมากกว่า 10 ครั้ง โดยไม่มีการทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเลย การที่จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 มาด้วย แต่ให้รออยู่นอกบ้านน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเพื่อข่มขู่โจทก์ร่วมเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมและถอดเอาทรัพย์สินจากตัวโจทก์ร่วมไปทั้ง 4 ครั้ง หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ด้วย คงรับฟังได้เพียงว่า การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานกรรโชกอีก 4 กรรม เท่านั้น และศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งโจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 จำเลยทั้งสองร่วมกันข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ไปขอร้องนายสมบูรณ์ให้โอนขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 เป็นการร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เป็นความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดดังกล่าวได้
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกรรโชกทรัพย์และจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ได้ไปซึ่งเงินและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอันเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินและส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่โจทก์ร่วม สำหรับทรัพย์สินที่เป็นเครื่องประดับและทองรูปพรรณ หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคา ส่วนเครื่องประดับและทองรูปพรรณรวม 9 รายการที่นำไปจำนำและจำเลยทั้งสองเอาเงินที่ได้จากการจำนำไป จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินที่ได้จากการจำนำจำนวน 97,000 บาท แก่โจทก์ร่วมในส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 13538 ที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนโอนคืนมาให้โจทก์ร่วม หากไม่สามารถทำได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระราคาแทนเป็นเงิน 200,000 บาท สำหรับโฉนดที่ดินเลขที่ 432 ซึ่งโจทก์ร่วมจดทะเบียนโอนขายให้นางสาวคำปันไปในราคา 800,000 บาท แล้ว จำเลยทั้งสองเอาเงินค่าที่ดินทั้งหมดไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วม ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 130001 โจทก์ร่วมได้รับคืนไปแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม และโฉนดที่ดินเลขที่ 20950 ซึ่งมีชื่อนายบุญชูเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ร่วม แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินในกรณีที่ไม่สามารถส่งคืนได้ เพราะที่ดินของนายบุญชูไม่ใช่ทรัพย์สินที่สูญเสียไปจากกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง รวมเงินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเพราะการกรรโชกทรัพย์ของจำเลยทั้งสองจำนวน 13,913,886.95 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยมาตรา 83 รวม 166 กรรม และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง รวม 4 กรรม จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยมาตรา 83 รวม 170 กรรม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกรรโชก จำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานชิงทรัพย์จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 352 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 340 ปี เนื่องจากความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 13,913,886.95 บาท แก่โจทก์ร่วม ให้ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13538 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง คืนแก่โจทก์ร่วม หากไม่สามารถทำได้ให้ร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ให้ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 20950 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง แก่โจทก์ร่วม กับให้ร่วมกันคืนเข็มขัดทองคำหนัก 20 บาท 1 เส้น ราคา 280,000 บาท เข็มกลัดเพชร 1 อัน ราคา 35,000 บาท แหวนเพชรแถว 4 วง ราคา 80,000 บาท แหวนเพชรเม็ดใหญ่ 1 วง ราคา 100,000 บาท แหวนเพชรแบบข้าวหลามตัด 1 วง ราคา 35,000 บาท แหวนหยกล้อมเพชร 2 วง ราคา 60,000 บาท แหวนเพชรซีกโบราณ 1 วง ราคา 70,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 3 เส้น ราคา 84,000 บาท ตุ้มหูทับทิมล้อมเพชร 1 คู่ ราคา 45,000 บาท ตุ้มหูเพชร 1 คู่ ราคา 30,000 บาท และสร้อยแขนทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 14,000 บาท หากไม่สามารถคืนเครื่องประดับและทองรูปพรรณรายการใดก็ให้ใช้ราคาแต่ละรายการแก่โจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก