คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4771/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยใช้รถยนต์สี่ล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคนในท้องที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 34(พ.ศ. 2513) ออกตามความใน พ.ร.บ. รถยนต์พ.ศ. 2473 อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะพิพาท ซึ่งตามข้อ 8(5)แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นเช่ารถของจำเลยที่ 2 ไปหารายได้ ดังนี้ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าให้จำเลยที่ 1 เช่ารถตามฟ้องไปแล้ว สัญญาเช่าดังกล่าวจึงฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 เมื่อจำเลยที่ 1 เดิน รถรับจ้างโดยสารดังกล่าวกระทำในนามของจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 ขอจดทะเบียนไว้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารของจำเลยที่ 2ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าให้เช่ารถคันดังกล่าวไปแล้วหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยละเมิด ชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ร่วมกันรับผิดในค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 แต่เป็นผู้เช่ารถของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน29,845 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่12 สิงหาคม 2527 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่2 มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่ารถแท็กซี่ และให้จำเลยที่ 1 เช่ารถตามฟ้องไปแล้ว ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.3 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อรถแท็กซี่ตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าให้จำเลยที่ 1 เช่าเป็นของจำเลยที่ 2 จึงแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์สี่ล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคนในท้องที่จังหวัดพระนครและจังหวัดชลบุรี ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2513) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2473 อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะพิพาท ซึ่งตามข้อ 8(5)แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นเช่ารถของจำเลยที่ 2 ไปหารายได้ ดังนี้สัญญาเช่าดังกล่าวจึงฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎกระทรวงที่กล่าวแล้วเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 1 เดินรถรับจ้างโดยสารดังกล่าวกระทำในนามของจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 ขอจดทะเบียนไว้จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารของจำเลยที่ 2 ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าให้เช่ารถคันดังกล่าวไปแล้วหาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์อ้างถึงกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับนั้นในชั้นพิจารณาไม่เคยอ้างมาในคำฟ้อง ต้องห้ามมิให้ศาลนำมาวินิจฉัยคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านอกจากไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแล้ว ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 เช่ารถไปแล้วดังนี้จำเลยที่ 2 จะปฏิเสธความรับผิดเพราะเหตุดังกล่าวได้หรือไม่จึงชอบที่จะนำกฎกระทรวงฉบับที่กล่าวข้างต้นซึ่งบัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้โดยตรงมาปรับแก่คดีได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน.

Share